วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2561

ความแตกต่างการวิจารณ์วรรณกรรมไทยก่อนและหลังรับอิทธิพลตะวันตก



   
ความแตกต่างการวิจารณ์วรรณกรรมไทยก่อนและหลังรับอิทธิพลตะวันตก
         
   ความหมายของคำว่า วรรณกรรมวิจารณ์   เป็นการพิจารณาคุณค่าของหนังสือหรือบทประพันธ์โดยชี้ให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับงานประพันธ์   เพื่อที่จะประเมินค่า หรือ ชี้ให้เห็นข้อเด่นข้อด้อยว่าเป็นอย่างไร หรือเพราะเหตุใด   นอกจากนี้แล้วการวิจารณ์ก็มีลักษณะที่เป็นกระบวนการและมีขั้นตอนที่ค่อนข้างแน่นอน   มีองค์ประกอบ คือ การวิเคราะห์หารายละเอียดของวรรณกรรม   เช่น   การวิเคราะห์องค์ประกอบ   การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ การอธิบายให้ความกระจ่างในสิ่งที่ได้วิเคราะห์   เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้จากตัวบทวรรณกรรม   การตีความจะช่วยให้เกิดความกระจ่างในวรรณกรรมได้มากขึ้น   การประเมินค่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการวิจารณ์วรรณกรรมและเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะลงความเห็นว่า   วรรณกรรมเรื่องนั้นมีความเด่นด้อยอย่างไร
การวิจารณ์วรรณกรรมไทยในอดีตเกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อม ๆ กับการสร้างและการเสพวรรณคดีเช่นเดียวกับการสร้างและเสพวรรณคดีในสังคมต่าง ๆ ที่มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมทั้งในรูปมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์   ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงวัฒนธรรมในการสร้างและเสพวรรณคดีตามที่ได้กล่าวมาแล้วจึงอาจสรุปให้เห็นถึงลักษณะของการวิจารณ์วรรณกรรมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มดังนี้
          การวิจารณ์วรรณกรรมในระดับชาวบ้านมีทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์และวรรณกรรมมุขปาฐะ   ผู้สร้างและผู้เสพวรรณกรรมในระดับชาวบ้านมีทั้งในแวดวงของชาวบ้านและชาววัด   อาจกล่าวได้ว่าผู้รับสารในระดับชาวบ้านนั้นมีส่วนในการสร้างสรรค์วรรณกรรมด้วยในกระบวนการสืบทอดวรรณกรรมนั้นอาจมีการดัดแปลงหรือว่าเติมแต่งในส่วนที่ตนเห็นว่ายังไม่ถูกใจ   ถือเป็นการวิจารณ์แบบชาวบ้านเพียงแต่ผู้แต่งอาจไม่มีโอกาสรู้เห็นเท่านั้น   ลักษณะการประเมินค่าวรรณกรรมโดยชาวบ้านยังครอบคลุมไปถึงวรรณกรรมลายลักษณ์ด้วยเช่นกัน   ความนิยมในการเสพวรรณกรรมของมหาชนนั้นเป็นพฤติกรรมในการประเมินค่าวรรณกรรมได้อย่างหนึ่ง   เป็นกระบวนการสื่อสารทางวรรณกรรมที่ครบวงจร คือจากมุมมองผู้แต่ง ผู้อ่าน และผู้วิจารณ์
          การวิจารณ์ในระดับผู้แต่งหรือกวีด้วยกันเอง   หรืออาจเรียกว่าเป็นการวิจารณ์ในลักษณะอัตวิพากษ์ก็ได้   เป็นการแสดงความเห็นต่องานประพันธ์ในลักษณะที่กวีประเมินค่าผลงานของตัวเอง   ซึ่งปรากฏในหมู่ผู้แต่งในระดับชาววังหรือในแวดวงราชสำนัก   ยุคเริ่มต้นของการวิจารณ์วรรณกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษร   การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเขียนอันเนื่องมาจากการรับอิทธิพลวรรณกรรมตะวันตก   ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการสร้างสรรค์วรรณกรรมในระยะนี้คือการนำรูปแบบของงานเขียนจากตะวันตกเข้ามาเผยแพร่   ได้แก่   เรื่องสั้น   นวนิยายและบทละครพูด   หรือที่เรียกกันในช่วงเวลานั้นว่าเรื่องอ่านเล่น   การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเขียนที่เป็นไปอย่างคึกคักนี้เอง   มีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นให้มีการแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์ต่อวรรณกรรมในรูปแบบใหม่   ในระยะแรก ๆ นั้นการแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์ยังอยู่ในลักษณะของการตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อวงการประพันธ์ไปมากกว่าตั้งใจให้เป็นบทวิจารณ์ที่แท้จริง   แต่เริ่มปรากฏเป็นการวิจารณ์อย่างชัดเจน   จนเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 7 ดังเช่นบทความที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมประโลมโลก และเรื่องอ่านเล่น   โดย ส่ง  เทภาสิต   กับบทวิจารณ์นวนิยายเรื่องละคนแห่งชีวิต   โดยองค์เจ้าจุลจักรพงศ์   ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเปิดฉากการวิจารณ์วรรณกรรมสมัยใหม่อย่างเป็นกิจจะลักษณะและเป็นบทวิจารณ์วรรณกรรมที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
          การจัดระบบองค์ความรู้ทางด้านภาษาและวรรณคดีไทยและกระแสต่อต้านวรรณกรรมตะวันตก   ความเคลื่อนไหวของการวิจารณ์อันเนื่องมาจากปัจจัยเหตุในข้อนี้นับว่าได้เป็นผลกระทบที่ส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจารณ์วรรณคดีในช่วงก่อน พ.ศ. 2475 เป็นอย่างมาก   กระแสความนิยมในวรรณกรรมสมัยใหม่ทำให้เกิดความตื่นตัวให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์วรรณคดีไทย   ความตื่นตัวด้านหนึ่งมุ่งไปที่การจัดระบบองค์ความรู้ทางวรรณคดีไทยโดยการศึกษาที่มาเชิงประวัติ   การสันนิษฐานไปถึงยุคสมัยที่แต่ง   รวมไปถึงการตรวจสอบต้นฉบับให้ถูกต้อง   ส่วนความตื่นตัวอีกด้านหนึ่งมุ่งไปที่การสกัดกั้นกระแสวรรณกรรมตะวันตก   เพื่อเป็นการสกัดกั้นความนิยมในการใช้ภาษาและสำนวนต่างประเทศในการแต่งหนังสือ   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดให้มีการก่อตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้นมาในปี พ.ศ. 2475   โดยมีเหตุผลสำคัญคือต้องการอุดหนุนวิชาแต่งหนังสือภาษาไทยให้ดีขึ้น   กิจกรรมที่สำคัญของวรรณคดีสโมสร   มีผลต่อพัฒนาการของการวิจารณ์วรรณกรรมไทยอย่างมากก็คือ  การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินค่าหรือวินิจฉัยคุณค่าหนังสือที่แต่งดี   เพื่อพิจารณาให้รางวัลโดยกำหนดคุณสมบัติของหนังสือที่เห็นว่าแต่งดีว่าจะต้องประกอบด้วย (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31, 2457 : 309-313)
1.      เปนหนังสือดีกล่าวคือ   เป็นเรื่องที่สาธราณชนสมควรอ่านฤๅเป็นเรื่องที่ไม่ชักจูงผู้อ่านไปในทางอันไม่เป็นแก่นสาร   หรือจะชวนให้คิดวุ่นวายไปในทางการเมือง   อันเป็นเครื่องรำคาญแก้รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ดังนี้เป็นต้น
2.      เปนหนังสือที่แต่งดีโดยใช้วิธีเขียนเรื่องอย่างใดก็ตาม   แต่ต้องเป็นภาษาไทยอันดีถูกต้องตามเนื่องที่ใช้ตามโบราณกาล ฤๅในปัตยุกาลก็ได้ ไม่ใช่ภาษาซึ่งเลียนแบบจากภาษาต่างประเทศ...
การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้   นับได้ว่าเป็นการสร้างหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการประเมินค่าวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก   กล่าวคือในเกณฑ์ข้อที่ 1 ให้ความสำคัญต่อเนื้อหาวรรณกรรม   ส่วนเกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นการพิจารณาด้านรูปแบบและการใช้ภาษาในการแต่ง
การวิจารณ์วรรณกรรมยุครับอิทธิพลตะวันตก พ.ศ. 2476-2490   วรรณกรรมวิจารณ์ของไทยในระยะนี้นับได้ว่าเป็นช่วงของการพัฒนาไปสู่การวิจารณ์ที่เป็นระบบแบบแผนมีลักษณะเป็นสากลมากขึ้น   การวิจารณ์วรรณกรรมซึ่งก่อนหน้านี้ยังคงเป็นรสนิยมสากลที่ยังไม่คุ้นเคยและเป็นที่กระดากกันอยู่มากในหมู่ชาวไทย   กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการสร้างและเสพวรรณกรรม   การวิจารณ์วรรณกรรมในระยะนี้มาจากความเคลื่อนไหวของนักวิจารณ์สองกลุ่มด้วยกัน   คือกลุ่มแรกเป็นนักวิจารณ์วรรณคดีที่มีความคิดเชิงอนุรักษ์ทางภาษาและวรรณคดี   ซึ่งจะให้ความสนใจศึกษาและวิจารณ์วรรณคดีเป็นส่วนใหญ่   ส่วนนักวิจารณ์อีกกลุ่มได้แก่   นักอ่านรุ่นใหม่ซึ่งจะให้ความสนใจศึกษาและวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัย   เช่น   เรื่องสั้น  และ นวนิยาย และทั้งสองกลุ่มนี้ก็มีแนวนิยมในการวิจารณ์ที่แตกต่างกัน
การวิจารณ์วรรณกรรมยุคอิทธิพลแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิต พ.ศ. 2491-2500   ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นไป   วรรณกรรมวิจารณ์ไม่ใช่ของใหม่สำหรับชาวไทยอีกต่อไป   วรรณกรรมวิจารณ์ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2491-2500   ได้รับการพัฒนาและขยายตัวออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น   พร้อมกันนั้นก็ได้มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างและเสพวรรณกรรม   การวิจารณ์วรรณกรรมในระยะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการสร้างงานตามแนวทางที่เหมาะสม   ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการวิจารณ์ที่ยึดถือความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคมเป็นหลักและเป็นแนวการวิจารณ์ที่มีบทบาทเป็นอย่างมากตลอดเวลาช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2491-2500
การวิจารณ์วรรณกรรมยุคความเคลื่อนไหวของนักวิจารณ์รุ่นใหม่ พ.ศ. 2501-2519   การวิจารณ์วรรณกรรมของไทยในระยะนี้มีความคึกคักและตื่นตัวมากที่สุด   การวิจารณ์มีความเติบโตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพในขณะเดียวกันก็มีบทบาทต่อกระบวนการสร้างและเสพวรรณกรรมมากกว่าทุกยุคที่ผ่านมา   ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของการวิจารณ์วรรณกรรมในระยะนี้คือในบางช่วงวรรณกรรมวิจารณ์ถูกโน้มนำไปผูกพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง   นอกจากนี้แล้วในด้านทฤษฎีและแนวการวิจารณ์ก็ได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก   มีการนำเอาแนววิจารณ์ใหม่ ๆ จากตะวันตกเข้ามาทดลองวิจารณ์วรรณคดีไทย   ซึ่งก่อให้เกิดความเห็นร่วมและขัดแย้งอย่างหลากหลาย   อย่างไรก็ตามหากเปรียบกับทุกยุคที่ผ่านมา   คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าช่วงปี พ.ศ. 2501-2519 เป็นยุคทองของการวิจารณ์วรรณกรรมของไทย
การวิจารณ์วรรณกรรมยุคการปรับเปลี่ยนแนวคิดทางวรรณกรรม พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน   การวิจารณ์วรรณกรรมไทยหลังปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา   มีความเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปจากเดิมเป็นอย่างมาก   ทั้งในด้านความเคลื่อนไหว   แนวคิด   และระเบียบวิธีการวิจารณ์   การประเมินค่าวรรณกรรม   สถานการณ์ทางการเมืองภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516   เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการสร้างสรรค์และการวิจารณ์วรรณกรรม   ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งเข้ายึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519   ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและทำการกวาดล้างขบวนการฝ่ายซ้ายอย่างกว้างขวาง   ทำให้นักคิดนักเขียนและปัญญาชนกลุ่มใหญ่ต้องหนีภัยทางการเมืองเข้าไปร่วมกับกองทัพคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย   หรือไม่ก็หลบหนีการจับกุมและหยุดความเคลื่อนไหวอย่างสิ้นเชิง
ภาวะสถานการณ์เช่นนี้ทำให้บรรยากาศของการวิจารณ์ที่เคยคึกคักมาก่อนต้องตกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนักชั่วระยะเวลาหนึ่ง   กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา   เมื่อนิตยาสารโลกหนังสือซึ่งเป็นนิตยาสารทางวรรณกรรมได้ถือกำเนิดขึ้นมา   บรรยากาศของการวิจารณ์วรรณกรรมก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่   จึงกล่าวได้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2523-2525 เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย   เนื่องจากได้มีข้อเสนอให้มีการตรวจสอบและทบทวนแนวคิดทางวรรณกรรมครั้งใหญ่   หลังจากที่ตกอยู่ในอิทธิพลของกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นเวลานาน   ภายหลังปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นไป   วรรณกรรมร่วมสมัยของไทยก็มีความหลากหลายทั้งด้านแนวคิด   เนื้อหา   และกลวิธีในการแต่งเพิ่มมากขึ้น   และแสดงให้เห็นถึงความมีอิสรเสรีของนักเขียนที่ไม่ถูกครอบงำหรือกำหนดโดยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง   การวิจารณ์วรรณกรรมนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2525   ลักษณะสำคัญของการวิจารณ์วรรณกรรมของนักวิจารณ์ที่เป็นนักวิชาการคือ ให้ความสนใจในตัวบทวรรณกรรมเช่นเดียวกัน   เพียงแต่วิเคราะห์ตัวบทนั้นได้นำทฤษฎีใหม่ ๆ เข้ามาใช้   ที่ปรากฏเด่นมากก็คือ การนำเอาทฤษฎีโครงสร้างนิยมของนักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศสมาวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยของไทย   สาระสำคัญของการวิจารณ์ตามแนวโครงสร้างนิยมฝรั่งเศสคือ   ความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างในวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ๆ นั้น   มีความหมายหรือความสำคัญอยู่ในตัวของมันเองไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง โครงเรื่อง แก่นเรื่อง ฉาก บรรยากาศ มิติของเวลา ตัวละคร การใช้มุมมองหรือ กลวิธีในการเล่าเรื่อง   และบางครั้งก็ยังให้ความสนใจสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวบทด้วย เช่น ปกหนังสือ       ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง คำนำ หรือค่านิยมที่นำมาพิมพ์ประกอบหนังสือ   ส่วนวิธีในการวิจารณ์นั้นจะใช้วิธีการอ่านอย่างละเอียดและปราศจากการประเมินค่าดังเช่น   การวิจารณ์ตามแนวโครงสร้างนิยมแบบเก่า
จะเห็นได้ว่าแต่ละยุคของการวิจารณ์วรรณคดีมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการคิดค้นการศึกษาศาสตร์แห่งวรรณคดีมากขึ้น   ก็จะทำให้พบกับแนวทางในการวิจารณ์วรรณคดีที่หลากหลาย   การวิจารณ์วรรณคดีในแต่ละยุคทำให้กรอบแนวคิดในการวิจารณ์   ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะศึกษาและเข้าใจตัวบทได้มากขึ้น   แต่ละยุคแต่ละทฤษฎีมีทั้งความเหมือนและความต่างกัน   แต่ทุกยุคทุกสมัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกันเสมอ   ทุกศาสตร์ที่เกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณคดีทั้งนั้น   เช่น   ศาสตร์ทางด้านสังคมที่มีการนำมาใช้ในการศึกษาวรรณคดี   ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาที่นำมาใช้ในการศึกษาผู้เขียน   วรรณคดีทำตัวศาสตร์ต่าง ๆ นั้นมารวมตัวกันเพื่อใช้ในการวิจารณ์วรรณคดีออกมา   เราสามารถนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในงานได้   การเลือกทฤษฎีให้เหมาะสมกับตัวบทที่เราใช้   ทฤษฎีต่าง ๆ มีทั้งการศึกษาทั้งภายนอกและภายในของตัววรรณคดี   การที่เราเลือกนำมาประยุกต์ใช้ทำให้เรามองอย่างเป็นระบบและรอบครอบ   เพราะสามารถศึกษาได้ทั้งภายนอกและภายในทำให้เราสามารถวิเคราะห์วรรณคดีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   เมื่อก่อนรับอิทธิพลตะวันตกนั้นรูปแบบที่ใช้คือประเภทร้อยกรอง  มีการต่อต้านรูปแบบการเขียนของตะวันตก   วรรณกรรมไทยสมัยก่อนรับอิทธิพลตะวันตกนั้นมีการหวนกลับไปใช้เหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา   แต่เมื่อถึงช่วงรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามาวรรณกรรมไทยก็เปลี่ยนไป   จากเมื่อก่อนการวิจารณ์ยังไม่เป็นรูปธรรมยังไม่เป็นกรอบทางการที่นำมาใช้ในการวิจารณ์   เมื่อถึงช่วงตะวันตกวรรณกรรมไทยเกิดความคึกคักขึ้นอีกครั้ง   มีนักวิจารณ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นและยังมีกรอบมีแนวทางในการวิจารณ์ที่เป็นสากลเป็นรูปธรรมมากขึ้น   เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมก็เปลี่ยนไป   นักเขียนมีความคิดที่หลากหลายในการเขียนหนังสือที่ซับซ้อนมากขึ้น   การวิจารณ์จึงไม่มีความตายตัว   แนวคิดต่าง ๆ ที่นักวิจารณ์นำเข้ามานั้นก็คือ กรอบแนวคิดในการใช้วิจารณ์วรรณกรรมเท่านั้น   ทำให้เกิดแนวคิดที่หลากหลายที่หมุนไปตามสังคมที่ไม่มีความหยุดนิ่ง   ทำให้ได้เห็นทฤษฎีในการวิจารณ์วรรณกรรมนั้นก้าวหน้าไปเสมอ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดสรุปได้ว่า   ความแตกต่างระหว่างก่อนรับอิทธิพลตะวันตกนั้นวรรณกรรมไทยนั้นรูปแบบเขียนเป็นแบบร้อยกรอง และมีการวิจารณ์แบบมุขปาฐะและทั้งลายลักษณ์อักษร  แต่ไม่ได้เป็นกิจจะลักษณะมากนัก  และการวิจารณ์นั้นส่วนใหญ่ผู้เขียนจะไม่ได้รับรู้สำหรับงานเขียนในกลุ่มชาวบ้าน  แต่ระดับชาววังมีการวิจารณ์กันในผู้แต่งด้วยกันเอง   การวิจารณ์ของชาวบ้านก็จะมีการเขียนแก้บทต้นฉบับเมื่อเห็นว่าอันไหนไม่ถูกใจตน อันไหนไม่ไพเราะก็จะทำการแก้ไข้คำนั้นทันที และเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการคิดที่จะหวนกลับไปอนุรักษ์แนวเขียนแบบไทยเดิม  แต่เมื่อหลังจากการได้รับอิทธิพลตะวันตกนั้นทำให้การวิจารณ์เป็นสากลมากขึ้น มีกรอบในการคิดที่หลากหลายในการวิจารณ์และเริ่มที่จะมีการวิจารณ์อย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น   มีทั้งมุมมองในการวิจารณ์ที่หลากหลายมีการใช้ทฤษฎีที่รับมาจากอิทธิพลตะวันตกมากขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวคิดว่าจะศึกษาตัวบททั้งตัวต้นฉบับและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป


 อ้างอิง
ธัญญา   สังขพันธานนท์.2539.วรรณกรรมวิจารณ์.กรุงเพทฯ : นาคร

อิงอร   สุพันธุ์วณิช.2547.วรรณกรรมวิจารณ์.กรุงเทพฯ : บริษัทแอคทีฟพริ้นท์จำกัด
                         นางสาวรติรัตน์   ปานฤทธิ์  รหัส 021 หมู่1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกภาษาไทย ปี 3