วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ตีความ ชื่อบทกวี “ปรัชญาราตรี” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา




    บทกวีบทนี้เป็นการพูดถึงท้องฟ้าเปรียบกับชีวิตของคนเรา  ที่มีความสวยงาม สว่างไสว โชติช่วงและล่วงดับไปตามกาลเวลา

    ฉันเชื่อว่าทุกคนต่างเคยมองท้องฟ้าในยามค่ำคืนกันใช่ไหม ท้องฟ้าที่มีหมู่ดาว มีพระจันทร์ มีก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนฟ้า​ ซึ่งบางคนมองท้องฟ้าแล้วรู้สึกเหงา บางคนมองท้องฟ้าแล้วรู้สึกสดชื่น เหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตที่สดใสในวันพรุ่งนี้ บางคนมองท้องฟ้าแล้วมีความสุข และบางคนมองท้องฟ้าแล้วมีความเศร้า บางคืนท้องฟ้าสว่างไสวเต็มไปด้วยหมู่ดาว  แต่บางคืนท้องฟ้าก็มืดหม่น มองเห็นแต่ความว่างเปล่าและเดียวดาย​ 

    บทกวีบทนี้ทำให้ฉันรู้สึกว่า บนท้องฟ้าก็เปรียบเหมือนดั่งชีวิตของเราที่อยู่บนโลก  โลกนั้นกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆมากมายที่ชีวิตเราต้องเจอ  เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าชีวิตในแต่ละวันเราจะเจอกับอะไร ดาวก็เหมือนตัวแทนของเราเองที่อยู่บนโลก บางวันชีวิตเราก็สดใสเต็มไปด้วยผู้คนมากมายที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เต็มไปด้วยความสุขและมีชีวิตชีวา​ 

    แต่บางครั้งมันก็อ้างว้างเมื่อรอบข้างที่เรายืนเต็มไปด้วยผู้คนที่เราไม่รู้จักใครเลยสักคน มันก็ทำให้รู้สึกโดดเดียวและโหยหาบางสิ่งบางอย่างที่จะมาช่วยเติมเต็มในชีวิต  เพื่อให้ชีวิตกลับมาสดใสอีกครั้ง และสุดท้ายทุกอย่างย่อมมีการสิ้นสุดลง 

    เมื่อเวลาที่ต้องล่วงหล่นลงจากฟ้ามาถึง เพื่อมีดาวดวงใหม่ขึ้นมาทดแทน ก็เหมือนชีวิตของเราที่ต้องลาโลกไปในที่สุดเมื่อหมดเวลาของชีวิต และมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นมาแทนบนโลกใบนี้

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562

ตีความ ชื่อบทกวี “นิยายยาง” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา




บทกวีบทนี้เป็นการเล่าเรื่องของต้นยางที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความแห้งแล้ง แต่กลับสามารถที่จะหยั่งรากลงดินและสามารถเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชในประเภทอื่นได้  ต้นยางสามารถที่จะเติบโตเป็นต้นยางให้คนสามารถกรีดเอาไปเลี้ยงชีพได้  และในช่วงท้ายได้มีการพูดถึงเรื่องแม่ผู้เสียสละและมีพระคุณกับลูกซึ่งเป็นบุญคุณที่หาที่สุดไม่ได้

ซึ่งในจุดนี้จากบทกวีบทนี้ทำให้ฉันรู้สึกว่า  ต้นยางก็มิได้ต่างอะไรกับแม่ ถึงแม้จะลำบากแต่ก็ยังหยั่งรากลงดิน เป็นฐานยึดหลักเพื่อให้ลูกเติบโตได้ น้ำยางก็เหมือนกับนมที่สามารถนำมาเลี้ยงคนเราให้เจริญเติบโตได้  

ถึงแม้ว่าต้องแลกกับการโดนกรีด โดยมีดกรีดเป็นแผลอยู่ที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม  ทุกอย่างก็คือการเสียสละ อันเป็นพระคุณอย่างยิ่งที่ทำให้เห็นถึงคุณค่า และความอดทนในการเลี้ยงดู ถึงแม้สิ่งที่เจอในชีวิตจะลำบากก็ตาม 

ซึ่งหากมองบนรอยของต้นยางก็เหมือนเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า บาดแผลบนนั้นเป็นรอยที่ทำให้เห็นว่าทั้งความรัก บุญคุณและความอดทนของแม่ที่เลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย 

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รีวิวหนังสือเรื่อง A History of Thailand (ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย) ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร


รีวิวหนังสือเรื่อง A History of Thailand (ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย) ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

                                                                                                                                               
หนังสือเรื่อง                     A History of Thailand (ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย)

ผู้เขียน                             คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สำนักพิมพ์                      มติชน


    หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีความน่าสนใจมาก และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันอ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้วไม่มีความง่วงเหงาหาวนอน  นอกจากไม่ง่วงแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังทำให้ฉันรู้สึกกระหายใคร่รู้มากขึ้นในสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในสมัยต่าง ๆ ความแตกต่างของหนังสือเล่มนี้กับประวัติศาสตร์เล่มอื่น ๆ ที่ผ่านมาในช่วงวัยเรียนได้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ มีที่มาที่ไปและหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากในการรองรับข้อมูลต่าง ๆ จากผู้แต่ง  และหลักฐานเหล่านั้นก็เป็นการยืนยันได้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคือความจริงที่เราควรยอมรับกับมัน 
           

     หนังสือเล่มนี้เหมาะกับทุกช่วงวัยที่ต้องการจะศึกษาหาความรู้ในประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ขอให้เชื่อในสิ่งที่ฉันได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่ฉันอยากให้พวกคุณได้ลองสัมผัสหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเองจะดีกว่า แล้วคุณจะรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นมันแตกต่างกับในตำราที่เคยได้ถูกสอนสั่งในสมัยเด็กอย่างสิ้นเชิง

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ตีความ ชื่อบทกวี "ความตายของสันติสุข” ในกวีนิพนธ์เรื่อง “ความตายของสันติสุข” โดย อังคาร จันทาทิพย์


    บทความนี้ฉันขอมุ่งประเด็นไปที่ความสุขความสงบอย่างเดียวนะคะ  

    บทกวีบทนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสันติสุขที่มีอยู่ในทุกที่  ทุกเวลา แฝงอยู่ทุกแห่งหน และไม่มีการแบ่งแยกศาสนา    
    
    แต่ว่าความสันติสุขนั้น  ถึงแม้ว่าจะรู้ว่ามี แต่ก็เหมือนไม่มี เพราะภายใต้รอยยิ้ม ภายใต้สิ่งที่เราเชื่อว่ามันคือสันติสุข ในคาบความปรองดอง เราไม่สามารถที่จะมีความสุขกับมันได้เลย  ตราบใดที่ยังมีการฆ่ากันอยู่  

    ไม่ว่าจะเป็นคนภาคไหน คนเชื้อชาติอะไรก็ตาม  มันก็ไม่สามารถที่จะทำให้เรามีความสุขได้จริง ๆ มันไม่ใช่ความสุขที่มาจากใจ แต่เป็นภาพของการปลอบใจและหลอกตัวเองว่าสักวันมันต้องมี  

    แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี วันนั้นก็ยังมาไม่ถึง จึงมีแต่น้ำตาและความเศร้าอยู่ภายใต้หน้ากากของรอยยิ้มพิมพ์ใจที่แสดงออกมาให้ทุกคนเชื่อว่ามันคือความสุข  เหมือนดังที่เราคิดและนึกฝันว่ามันจะมีสักวันที่สันติสุขจะมีจริง

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

ตีความ ชื่อบทกวี “สันติภพ” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา



   

               บทกวีบทนี้พูดถึงสงครามที่เคยเกิดขึ้นในสมัยอดีตที่มีการนองเลือดกัน ซึ่งการนองเลือดแต่ละครั้งมันไม่เคยส่งผลดีต่อใครเลย เพราะมันมีแต่ความสูญเสีย 

            และเมื่อเกิดการนองเลือดครั้งหนึ่งคนทุกคนต่างหวังถึงสันติภาพและสันติสุข ได้แต่หวังว่าความสงบจะเกิดขึ้นเมื่อสงครามได้จบลง  แต่ว่าในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้มันกลับไม่เคยมีสันติภาพอย่างแท้จริง เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ก็ได้เกิดโลกใบใหม่ขึ้น เกิดวัฒนธรรมใหม่ เกิดความเปลี่ยนแปลงของประเทศ 

     แต่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคหรือกี่สมัยก็ตาม ก็คือโลกที่มีแต่ความสันติสุข ที่จะทำให้ทุกอย่างในโลกนี้ไม่เกิดความแตกแยก ไม่เกิดความสูญเสีย ไม่เกิดการนองเลือดเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

ตีความ ชื่อบทกวี “ห้วงคำนึง” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา


             
           
             บทกวีบทนี้เป็นการมองโลกแบบวัยเยาว์ที่มองทุกอย่างภายในโลกเป็นสิ่งที่สวยงาม เห็นสิ่งไหนก็ดีงามไปหมด ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสดใส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ฉันมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันคือการเตือนตัวเองว่า ครั้งหนึ่งเราเคยมองว่าสิ่งรอบตัวของเรามันช่างสดใสและสวยงามเพียงใด ก่อนที่เราจะไปเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ของบทเรียนแห่งชีวิตที่เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
           
             ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าในวันข้างหน้าจะยังมีตัวเราที่สดใส ร่าเริงเหมือนตอนนี้ไหม หรือจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด จะเจอกับความสุข หรือเจอกับความทุกข์ สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถคาดเดาได้เลย แต่ทุกคนคงหวังว่าเราจะมีแต่ความสุขเหมือนดั่งตอนนี้ในทุก ๆ วัน
           
            แต่เมื่อชีวิตได้ก้าวเดินไปข้างหน้า เราไม่สามารถจะตอบได้อย่างเต็มปากว่าเรามีความสุขหรือความทุกข์ โลกที่เรามองเห็นก็จะเริ่มเปลี่ยนไป มันอาจจะไม่สวยเท่ากับเมื่อก่อน บางคนอาจจะคิดว่ามันเลวร้ายเสียจนอยู่ไม่ได้ หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าเฉย ๆ และปล่อยวางกับทุกอย่าง หรือบางคนอาจจะอยู่กับโลกใบเดิมในจินตนาการเพื่อหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงก็แล้วแต่
           
            แต่จงจำความรู้สึกเมื่อครั้งหนึ่งที่เป็นเด็กไว้เสมอว่า ครั้งหนึ่งโลกนี้มันช่างน่าอยู่มากเพียงใด และเรามีความสุขกับมันมากแค่ไหนในวันนั้น