วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ในคม” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ






ชื่อบทกวี ในคมในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวันโดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทกวีนี้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับจอบ หลายคนคงรู้จักกันอยู่แล้วว่าจอบคืออะไร และมีความสำคัญกับคนสวนอย่างไร เราต่างรู้กันดีว่าจอบก็ไม่ต่างอะไรจากมือเท้าของชาวสวน เพราะจอบเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากในการทำสวน ถ้าหากไม่มีจอบก็คงไม่สามารถขุดดินและทำหน้าดินที่ดีได้

                ซึ่งจอบมันก็เป็นตัวบ่งบอกเจ้าของได้เหมือนกันว่า คนนั้นเป็นคนอย่างไร ขยัน เกียจคล้าน ถนอมของ หรือทิ้งขว้าง มันจึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นนิสัยใจคอได้ ถ้าหากสงสัยว่ามันสะท้อนได้อย่างไร ลองมาดูตัวอย่างนี้ดูนะคะ

ถ้าหากว่า คุณใช้จอบเล่มหนึ่งในระยะเวลาหนึ่ง คุณใช้มันจนสึก มันไม่คมเหมือนเดิม และสิ่งที่คุณทำต่อไปคือทิ้งแล้วหาซื้อใหม่ เพราะคุณคิดว่าไม่เห็นเดือดร้อนอะไร ไม่ดีก็แค่เปลี่ยนไม่เห็นยาก นั้นก็แปลว่าคุณเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของ ไม่รู้จักดูแลรักษา และคิดที่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

หากว่าอีกบ้านหนึ่งเจอปัญหาเดียวกับคุณ สิ่งที่เขาทำก็คือ ตะไบจอบให้คม ขัดจอบให้เงา เพื่อที่จะสามารถกลับมาใช้จอบเล่มเดิมได้ นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีเงินซื้อใหม่ แต่เหตุที่เขาไม่ซื้อใหม่เพราะว่าเขาเห็นคุณค่าของ ไม่ต้องใช้จ่ายโดยสิ้นเปลือง เพียงแค่ยอมเหนื่อย ยอมลงแรง มากกว่าลงเงิน ดูแลด้วยความรักเพื่อให้มันอยู่กับเราไปนาน ๆ

ถ้าถามว่าจากสองเหตุการณ์นี้ และที่กล่าวมาทั้งหมดมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร คุณลองกับไปอ่านที่ย่อหน้าแรกอีกครั้งและอีกครั้ง 

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “หน่อพนา” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ






ชื่อบทกวี หน่อพนาในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวันโดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทกวีของตอนนี้มีอยู่ว่า ครอบครัวหนึ่งไปเก็บหน่อไม้ มีพ่อ แม่ ลูกชายและลูกสาว  พ่อและแม่ช่วยกันขุดหน่อไม้ ส่วนลูกชายช่วยดึง ลูกสาวถือตระกล้า ครอบครัวนี้จะเลือกเก็บแต่หน่อใหญ่ ๆ และปล่อยหน่อเล็กให้โตต่อไปเพื่อมาเก็บในครั้งหน้า เมื่อได้หน่อไม้แล้วก็จะนำไปทำอาหารกินกันอย่างเอร็ดอร่อย

                และในตอนท้ายของบทนี้ยังได้แฝงข้อคิดดี ๆ ไว้อีกว่า ชีวิตของคนก็เหมือนกับหน่อไม้ พื้นดินก็เปรียบเหมือนพ่อ ต้นไผ่ก็เปรียบเหมือนแม่ ส่วนหน่อไม้ก็เหมือนลูก หน่อไม้จะเกิดขึ้นได้เพราะมีดินที่ให้เติบโต มีต้นไผ่ที่เป็นแม่พันธุ์ จึงทำให้มีหน่อไม้ได้ แม้ว่าชีวิตบางทีอาจจะมีอุปสรรคในแต่ละวันที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตบ้างก็ตาม

                เมื่อเราโตขึ้นเราก็มีทางเดินเป็นของเราเอง สร้างครอบครัวเองได้ แต่เราอย่าลืมที่มาของตัวเอง อย่าดูถูกตัวเองว่าเกิดมาต่ำต้อยด่อยค่า เพราะเราโตขึ้นมาจากความรักของพ่อแม่ ที่ทั้งรักทั้งหวง ดูแลเรามาเป็นอย่างดีตั้งแต่เล็กจนโต เพื่อให้เราเติบโตมามีชีวิตที่สมบูรณ์แข็งแรงและพร้อมที่จะใช้ชีวิตเป็นของตัวเองในแบบที่เราต้องการ

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “น้ำผึ้งและเพลิงภู” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี น้ำผึ้งและเพลิงภูในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวันโดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทนี้มีอยู่ว่า เด็กชายคนหนึ่งติดใจในรสชาติของน้ำผึ้ง เมื่ออยากกินน้ำผึ้งอีกครั้ง  จึงได้คิดที่จะไปเก็บน้ำผึ้งเอง เพราะเมื่อปีก่อนเคยไปช่วยพ่อเก็บมาก่อน พอถึงปีนี้จึงอยากที่จะเก็บเอง แต่แล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะการเก็บน้ำผึ้งครั้งนี้กลับทำให้ไฟไหม้ป่า ด้วยความที่เด็กชายไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงตกใจและไม่รู้ว่าควรจะจัดการดับไฟที่ลุกลามนี้อย่างไร ทำให้ไม่มีสติในการจัดการกับปัญหา จึงเกิดไฟลุกลามไปทั่วทั้งป่า เมื่อพ่อแม่รู้เรื่องจึงมีคำปลอบและคำสอนต่าง ๆ ให้เด็กชายฟัง และคืนนั้นก็เป็นคืนที่แห้งแลงที่สุด ทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่ในใจของเด็กชายกับเหตุการณ์และบทเรียนที่ยากจะลืมในครั้งนี้

                บทความนี้จะเห็นว่า เรื่องบางเรื่องมันก็ใหญ่เกินกว่าที่เราจะสามารถทำได้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะคิดว่าเราโตพอที่จะทำมันด้วยมือของตัวเอง  แม้ว่าเราจะมั่นใจในตัวเองมากแค่ไหนก็ตาม ว่าเราสามารถทำได้ เพราะทุกอย่างมันสามารถเกิดความผิดพลาดได้เสมอ และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ด้วยความที่เราไม่มีประสบการณ์ในการที่จะจัดการกับปัญหา มันก็สามารถทำให้ปัญหาเพียงเล็ก ๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้ทันที  เหมื่อนดั่งบทกวีตอนนี้  

ทางทีดีหากว่าเราไม่ได้เชี่ยวชาญกับเรื่องนั้นจริง ๆ เราก็ไม่ควรที่จะเสี่ยงทำมันด้วยตัวเองเพียงลำพัง เพราะถ้ามันเกิดปัญหาเกินเราควบคุมได้มันก็คงจะเป็นแผลเป็นในจิตใจของเราไปตลอดชีวิต


วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “เก็บข้าวตก” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี เก็บข้าวตกในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวันโดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                ในบทนี้เราจะเห็นภาพของเด็กตัวเล็กวิ่งกันลงนาไปเก็บข้าวที่ตกในท้องนาแล้วนำไปขาย   ข้าวตกก็คือข้าวที่อยู่ตามพื้นนาที่ชาวนาเขาเกี่ยวข้าวไปแล้วได้ล่วงหลนอยู่บนพื้นนา   เด็กน้อยต้องรีบไปเก็บก่อนที่นกและหนูจะกินหมด  เอาผ้าไปใส่เม็ดข้าวที่เก็บได้ตั้งแต่เช้า เมื่อเต็มก็เอาไปขายให้กันร้านค้า

                จากในบทกวีเราจะเห็นว่ามีร้านค้าอยู่สองร้าน ซึ่งรับซื้อข้าวเหมือนกัน แต่มันต่างกันตรงที่ ร้านหนึ่งเอาเปรียบเด็ก เพราะกดราคาข้าว แถมยังดูถูกดูหมิ่นเด็กน้อยเหล่านั้นอีก  ส่วนอีกร้านเป็นร้านชาวบ้านที่เข้าใจเด็ก ๆ เหล่านี้ และไม่คิดจะดูถูก เพราะเห็นค่าของข้าว 

                เงินที่เด็กได้มาจากการขายข้าวนั้นก็จะเอาไปซื้อขนมกินบ้าง หรือซื้อก๋วยจั๊บกินบ้าง ตามแต่ความพอใจของเด็ก ว่าจะนำไปซื้ออะไร 

                ในบทนี้นอกจากจะเห็นความน่ารักแบบเด็ก ๆ แล้ว เรายังได้รู้จักคุณค่าของข้าวอีกด้วย  ถึงแม้ว่าขาวของเด็กเหล่านั้นจะไม่ได้มากมายมหาศาลเหมือนที่ผู้ใหญ่ทำได้  แต่มันก็มีค่ามากพอที่จะเอาให้เด็กได้กินขนมโดยที่ไม่ต้องขอเงินจากพ่อแม่มาซื้อ  มันก็ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของที่บ้านอย่างหนึ่งก็ว่าได้ เพราะรู้จักหาเงินมาเองได้ ข้าวทุกเม็ดที่ตกตามท้องนาเมื่อนำมารวมกันแล้วมันก็มากพอที่จะทำให้ใครบางอิ่มท้องได้เหมือนกัน

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ทางของพ่อ” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี ทางของพ่อในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวันโดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทกวีตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนสมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีความสะดวกสบายใจการใช้ชีวิตแบบทุกวันนี้

ในบทนี้เราเห็นว่าความยากลำบากของคนในสังคมสมัยก่อนเป็นอย่างไรบ้าง   ทั้งความยากจน  ทั้งความลำบากในการเดินทางไปในอำเภอที่อยู่ในเมือง  เพราะ ต้องเดินทางไปด้วยเกวียน  ไม่มีทางเดินที่สะดวกสบาย ไม่มีรถที่สามารถไปไหนได้เร็วทันใจ  เร็วที่สุดในการเดินทางก็คือการนั่งเกวียนไป   ไม่มีบ้านช่องหลังใหญ่โตโอฬาร  แต่มีบ้านพอให้อาศัยอยู่ได้  มีที่ทางในการทำนา  งานทุกงานเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองทั้งสิ้น   

                ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคต่อมาจะได้รับความสะดวกมากกว่าเดิม  เพราะมีรอยในการเดินทางของคนรุ่นเก่าเป็นคนสร้างให้  และสิ่งตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองที่มากมายมหาศาล  แต่คือคุณค่าของความเป็นคน  ที่คนทุกคนควรได้รับไม่ว่าจะยากดีมีจน ลำบากหรือสุขสบายก็ตาม    

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ทวดทั้งสอง” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี ทวดทั้งสองในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวันโดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทกวีตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลานที่ระลึกถึงเรื่องราวชีวิตปู่ยาผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว   ซึ่งสิ่งที่คนรุ่นปู่ย่าได้ทำเมื่อในอดีตก็คือ  การทำนา  บทนี้เราจะได้เห็นถึงความยากลำบากของการทำนาเมื่อสมัยก่อน   ซึ่งต่างจากสมัยนี้มาก

                การทำนาในสมัยก่อนที่เห็นในบทนี้ก็คือ   วัวต้องแบกเกวียนไถนา  กว่าที่จะได้ดินที่พร้อมปลูกข้าว กว่าจะได้ข้าวที่พร้อมเก็บเกี่ยวก็ต้องใช้เวลานานในการรอคอยแต่ละวันที่ยาวนาน   ทั้งสถานะการที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  พบเจออุปสรรคมากมายที่ไม่สามารถห้ามได้

                และปู่ย่าในเรื่องนี้ท่านทั้งสองได้ครองรักกันอย่างยาวนาน   ผ่านความยากลำบากมาด้วยกัน  ถึงแม้ว่าจะมีชีวิตที่ยากลำบากมากแค่ไหนก็ตาม  ท่านก็ไม่เคยทิ้งกัน

เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ทำให้หลานได้รู้จักกับปู่ย่าผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะหลานนั้นเห็นปู่ย่าเพียงแต่ในรูปถ่ายใบเก่า ๆ เท่านั้น  แต่เพราะเรื่องราวเหล่านี้ทำให้หลานได้รักและเคารพปู่ และภูมิใจที่ได้เกิดมาในครอบครัวนี้อย่างภาคภูมิใจ

ฉันชอบบทกวี่ตอนนี้นะคะ   เพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ใครหลายคนอาจจะมองข้ามคนรุ่นเก่า ๆ ที่ผ่านมาในตระกูลของตัวเอง   บางคนอาจจะเบื่อที่คนแก่ชอบเล่าเรื่องสมัยก่อน  แต่ว่าถ้าเกิดลองฟังดูดี  ๆ แล้วเราจะเห็นถึงความรักความอบอุ่น  สังคมสมัยก่อนตั้งแต่เรายังไม่เกิด  เห็นถึงสิ่งต่าง ๆ มากมายที่เราอาจจะไม่สามารถพบเจอได้ในสมัยปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “หนังสือเล่มน้อย” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี “หนังสือเล่มน้อย” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทกวีตอนนี้มีเนื้อหาว่า  ลูกสาวโดนคุณครูที่โรงเรียนตบหน้า เพราะอ่านหนังสือการ์ตูนในคาบเรียนวิชาเลข พ่อเลยบอกลูกว่าครูคงอยากให้เด็กทุกคนมีระเบียบวินัย ตั้งใจฟังครูสอน  เด็กน้อยจึงเล่าให้พ่อฟังต่อว่า แต่ว่าที่หนูเอาหนังสือการ์ตูนขึ้นมาอ่านเป็นเพราะว่าได้ทำงานวิชาเลขเสร็จแล้ว  เสร็จก่อนเพื่อนนักเรียนคนอื่น  เธอจึงหยิบขึ้นมาอ่านเพราะเธอว่าง  เมื่อครูเห็น ครูจึงหยิบหนังสือที่เด็กน้อยอ่านอยู่ตบที่หน้าเด็กและฉีดหนังสือทิ้งต่อหน้าต่อตา  โดยที่ไม่ตรวจดูก่อนว่าเธอทำงานเสร็จแล้ว   

                  เรื่องแบบนี้คงเคยได้ยินหรือได้เห็นกันอยู่บ้างในชีวิตของเรา   อาชีพครูนั้นมีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนให้เด็กมีระเบียบวินัย และมีความรู้   แต่การที่ครูได้กระทำกับนักเรียนแบบนี้ทำให้เราเห็นว่า  ครูในนี้มีความบกพร่องในการอบรมสั่งสอนเด็กนักเรียน 

               การที่ครูจะสอนเด็กได้ก็ควรที่จะทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี  เพราะถ้าตัวครูเองยังไม่สามารถมีระเบียบวินัย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้  แล้วเด็กที่ไหนจะมานับถือ จะมาเชื่อฟังในสิ่งที่ครูสอน ในเมื่อตัวครูเองยังปฏิบัติไม่ได้  ซึ่งในเรื่องนี้เราเห็นถึง การที่ครูไม่มีความยับยั้งชั่งใจ  ไม่มีความรอบครอบในการดูแลเด็ก 

ถ้าหากว่าเด็กผิดก็ควรที่จะกล่าวตักเตือนเสียก่อน  หรือควรที่จะมาดูเด็ก มาถามเหตุผลว่าทำไมถึงได้ทำแบบนี้  ไม่ควรที่จะลงไม้ลงมือกับเด็กทันที   ควรนึกถึงจิตใจเด็กเสียบ้างว่าเด็กจะรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของครูแบบนี้

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “เจี๊ยบ เจี๊ยบ” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี “เจี๊ยบ เจี๊ยบ” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                ในบทนี้ แม่ได้เล่าเรื่องแม่ไก่กับลูกไก่ให้ลูกฟัง  แม่เล่าว่า แม่ไก่กกลูกไก่อยู่กลางดินเพราะลูกไก่ยังไม่สามารถบินขึ้นที่สูงได้   ในขณะที่หมามา  แม่ไก่พยายามปกป้องลูกจนตัวเองได้ขาดใจตายในคืนนั้น  เช้ามาลูกไก่เหลือสามในสี่จากเดิม มีลูกไก่ตัวหนึ่งได้ตายไปพร้อมแม่ไก่ ทิ้งพี่น้องที่กำพร้าต้องผจญกรรม ร้องเสียงเจี๊ยบเจี๊ยบก็ไม่มีเสียงตอบรับตั้งแต่เช้าจนถึงคำ   ดาวลูกไก่ต่างหนาวเหน็บเมื่อดาวหมาดำปรากฏตัว   ลูกได้ถามแม่ว่านี้เป็นนิทานเรื่องใหม่หรืออะไร  แต่เมื่อลูกเรียกลูกไก่กินข้าว จึงรู้ว่าลูกไก่เหลือเพียงแค่สองตัว  ลูกจึงได้รู้ความจริงที่แสนโหดร้าย

                ในบทนี้ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องปกติของวัฏจักรชีวิตก็ตาม  แต่ก็คงอดสงสารไม่ได้ที่แม่ไก่และลูกไก่ต้องมาเจอชะตากรรมแบบนั้น   แต่มันก็ทำให้เราเห็นอีกแง่หนึ่งก็คือ  เรื่องของความรักของแม่ที่มีต่อลูก   แม่ไก่พยายามปกป้องลูกจนถึงที่สุดแล้ว  จนตัวเองนั้นต้องตายก็ตามแต่ก็ได้ทำหน้าที่ของแม่เต็มที่ที่สุดแล้ว

                และการที่แม่ของเด็กหญิงที่เล่าเรื่องของแม่ไก่และลูกไก่ให้ลูกฟัง  มันเหมือนเป็นการระบายความเสียใจออกมามากกว่าอยากให้ลูกรับรู้เรื่องแม่ไก่ตายและลูกไก่โดนหมากัดตาย  ถึงแม้ว่าแม่ไก่จะตายไปแล้ว แต่ชะตากรรมของลูกก็ยังต้องเผชิญกับหมาต่อไป  

                สิ่งที่ทำให้เด็กหญิงเศร้าและแม่เศร้ามันต่างกันอยู่เล็กน้อย  เด็กหญิงเศร้าเพราะเสียใจที่แม่ไก่และลูกไก่ตาย   แต่ว่าที่แม่เศร้าเป็นเพราะว่าเห็นถึงความรักของแม่ไก่ที่มีให้ลูก  และยอมจำนนต่อชะตากรรมของไก่เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติแต่ก็อดเสียใจและซาบซึ้งไม่ได้ในความรักของสัตว์ตัวน้อย   ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงไก่ที่ไม่สามารถสู้กับหมาได้   แต่ก็ยอมที่จะตายเพื่อปกป้องให้ลูกมีชีวิตรอดต่อไป เพราะสัญชาตญาณของความเป็นแม่  ที่ตนยอมตาย ยอมเจ็บ เพื่อปกป้องลูกน้อยให้ดีที่สุดตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่  โดยที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าวันข้างหน้าจะต้องพบเจอกับชะตากรรมแบบไหนก็ตาม            

ตีความ ชื่อบทกวี “ลมร้ายจากปลายไร่” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี “ลมร้ายจากปลายไร่” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                เรื่องของบทนี้นะคะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชของเพื่อนบ้าน   ที่ทำให้เราเกิดผลกระทบได้รับสารเคมีเหล่านั้นไปด้วย   ถึงแม้ว่าจะบอกเพื่อนบ้านว่ามันไม่ดีอย่างไร  และแนะนำวิธีธรรมชาติให้ไปใช้  เพื่อนบ้านก็เหมือนจะเข้าใจ  แต่สุดท้ายเพื่อนบ้านก็ยังทำเหมือนเดิม   จะกลั้นรั้วก็กลัวว่าจะเสียชุมชน จะไปเตือนอีกก็กลัวเสียมิตร บทสรุปของตอนนี้ก็ทำได้แค่ยอมรับในสิ่งที่เพื่อนบ้านทำเพราะมันคือวิธีของพวกเขา

                ฉันขอเสนอความคิดอย่างสองมุมให้ได้เห็นกันให้กระจ่าง   ถ้าในมุมของเจ้าของบ้านที่ได้รับผลกระทบ  จะเห็นได้ว่าเจ้าของบ้านมีความคิดแบบสมัยใหม่  ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับการเกษตรแบบใหม่ที่นิยมใช้วิธีแบบธรรมชาติในการทำเกษตร    เพราะเขารู้ดีว่าการใช้สารเคมีแบบเก่า  การใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า  มันส่งผลเสียอย่างไรกับธรรมชาติรอบ ๆ ตัวบ้าง  ทั้งหน้าดิน  ทั้งแหล่งน้ำ  ไหนจะมลพิษทางอากาศที่แพร่กระจายไปยังคนในพื้นที่โดยรอบ  และมันจะเป็นการทำลายธรรมชาติระยะยาว   ซึ่งส่งผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอนอยู่แล้ว

                แต่ถ้ามองในมุมของเพื่อนบ้านที่ใช้ยาฆ่าแมลง   การที่เพื่อนบ้านยังใช้การทำเกษตรรูปแบบเดิมเป็นเพราะว่า  ตั้งแต่เล็กจนโต  เขาก็ใช้แบบนี้มาตลอด  และจะมั่นใจได้อย่างไรถ้าเปลี่ยนไปใช้แบบที่เจ้าของบ้านแนะนำพืชผักของเรามันจะได้ผลดีมากกว่าตอนนี้   ไม่มีอะไรเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ได้รับรู้มาใหม่มันจะเป็นไปในทางที่ดีได้   ถึงแม้ปัจจุบันมันอาจจะไม่ได้ผลดีมาก  แต่มันก็คงไม่มีอะไรเสียไปมากกว่านี้  ถ้าจะลองแบบใหม่ก็ไม่มั่นใจว่ามันจะเป็นอย่างไร อาจจะแย่กว่าตอนนี้ก็ได้

                ฉันคิดว่าการที่จะทำให้เพื่อนบ้านยอมเปลี่ยนความคิดได้ในเรื่องนี้คือการที่เราลงมือทำให้พวกเขาเห็นว่ามันสามารถส่งผลดีและสร้างความมั่นใจว่ามันว่ามันต้องดีกว่าวิธีเดิม ๆ ที่เขาเคยใช้มา   การที่เพื่อนบ้านไม่ทำตามที่ได้รับคำแนะนำไปเป็นเพราะ  เขากลัวที่จะส่งผลแย่ทางการเกษตรมากกว่าเดิม  

อย่างที่เราทราบกันดีว่าอาชีพเกษตรกร  เป็นอาชีพที่ใช้ชีวิตเดิมพันธุ์กับผลของพืชผักของตนเอง   และยังมีสภาพอากาศ หรือศัตรูพืชคอยจ้องเล่นงานอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าการปลูกครั้งนี้จะได้กำไรหรือขาดทุน   มันเป็นการลงทุนที่เสี่ยง  ด้วยเหตุนี้ คนรุ่นเก่าจึงคิดว่าการที่เราต้องลองทำอะไรใหม่ ๆ ตามที่ได้รับคำแนะนำมา  มันได้ผลไม่ทันใจ  หรือมันอาจจะทำให้ผลแย่กว่าเดิมก็ได้   จึงไม่กล้าที่จะเสี่ยงกับสิ่งที่ยังไม่เห็นด้วยกับตาของตนเองว่ามันได้ผลดีจริง ๆ  

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

รีวิวหนังสือเรื่อง เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ของ คิมรันโด ผู้แปล วิทิยา จันทร์พันธ์


รีวิวหนังสือเรื่อง   เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด






ชื่อเรื่อง                   เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
ผู้แต่ง                      คิมรันโด
ผู้แปล                     วิทิยา   จันทร์พันธ์
สำนักพิมพ์             springbooks


                หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อยากจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก  ซึ่งเป็นแนวจิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง   ยิ่งกับช่วงวัยเรียนยิ่งต้องลองอ่าน  เพราะในค่านิยมของไทยยังมีหลายอย่างที่ผิดพลาดอยู่เยอะมากในด้านของความคิด   ผู้ใหญ่บางคนนำอดีตที่ผ่านมาในชีวิตของตัวเองมาตัดสินคนรุ่นใหม่ว่าทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้   ทั้ง ๆ ที่ช่วงเวลาของสมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกัน  

เช่น เรื่องของอาชีพในการทำงาน  ผู้ใหญ่มักคิดว่าการเป็นข้าราชการคืออาชีพที่ดีที่สุดแล้ว  ใคร ๆ ก็อยากเป็นข้าราชการเพราะเป็นงานที่มั่นคง   เมื่อสมัยก่อนอาจจะใช่แบบนั้น  แต่สมัยปัจจุบันนั้นมีงานอีกหลากหลายที่มีความมั่นคงเช่นกัน   ไม่ว่าจะมนุษย์เงินเดือนหรืออะไรก็ตาม  ถ้าเรามีความชอบและความรัก เราก็สามารถทำให้มันเป็นงานมั่นคงในชีวิตได้ไม่ต่างจากงานราชการ  เพราะถ้าเป็นงานที่เหมาะกับเรามันจะทำให้เรามีความก้าวหน้าไปได้ไกลมากกว่าที่เราเคยคิดไว้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องให้เราได้ลองใช้ความคิดและทบทวนตัวเองไปในตัวด้วยว่าเราพร้อมจะก้าวเดินต่อไปในวันข้างหน้า  ไม่ต้องกดดันตัวเองมากจนเกินไป  ไม่ต้องท้อแท้กับชีวิตที่เราเป็นอยู่   ไม่ว่าจะวัยไหนเล่มนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน บางทีคนที่เลยวัยของวัยรุ่นไปแล้วอาจจะนึกเสียดายที่ได้รู้จักกับหนังสือเล่มนี้ช้าไป ว่าน่าจะรู้จักก่อนหน้านี้ บางทีชีวิตในช่วงนั้นอาจจะมีความสุขกว่าตอนนั้นก็ได้  แต่มันก็เป็นอดีตไปแล้ว และไม่สายเกินว่าจะเข้าใจในตอนนี้   เพื่อจะได้แนะนำให้กับรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไป  และที่สำคัญคุณผู้ใหญ่ทั้งหลายก็จะเข้าใจคนรุ่นนี้มากขึ้นอีกไม่มากก็น้อย

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “รถคันใหม่” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี “รถคันใหม่” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทนี้นะคะอ่านแล้วได้ใจความว่า  พ่อได้พูดปลอบใจลูกชายเรื่องรถคันใหม่ที่ลูกอยากได้   เพราะตอนนี้พ่อยังไม่สามารถ
ให้ตามที่ลูกขอได้   ลูกชายอยากได้รถมอเตอร์ไซค์  แต่สิ่งที่พ่อให้ได้ตอนนี้เป็นจักรยาน   เงินของพ่อก็พอมีที่จะซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกได้ แต่ว่าพ่อต้องเก็บเอาเงินส่วนนั้นไว้ใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นมากกว่า  ไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาลในยามที่เจ็บไข้   เพราะเหตุผลเหล่านี้พ่อจึงซื้อรถมอเตอร์ไซค์ตามที่ลูกต้องการไม่ได้  

                แต่เมื่อพ่อและแม่เห็นใบหน้าเศร้าเสียใจของลูกชาย  จึงรู้สึกสะเทือนใจเหมือนมีเข็มมาทิ่มที่หัวใจ   ทำให้พ่อและแม่ต้องพยายามทำงานหาเงินอย่างหนัก  เพื่อวันข้างหน้าจะสามารถซื้อรถคันใหม่ตามที่ลูกต้องการ

                ใครหลายคนอาจจะเคยไม่เข้าใจพ่อแม่เหมือนดังลูกชายในบทกวีนี้   ด้วยความที่เราเป็นเด็ก  เราเคยได้รับทุกอย่างที่เราต้องการ  โดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่าพ่อแม่ลำบากขนาดไหนกว่าจะซื้อหาในสิ่งที่เราอยากได้   หลายคนอาจจะเคยน้อยใจ  ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงให้ไม่ได้   ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนก็ไม่เคยขัดใจ  หรือที่ไม่ให้แปลว่าพ่อแม่ไม่รักเราแล้ว

                แต่เมื่อเราได้เติบโตขึ้นมาอีกช่วงหนึ่งของชีวิต  เราจึงทราบว่าที่พวกท่านให้เราในตอนนั้นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพวกท่านไม่รัก  ไม่ใช่ว่าพวกท่านไม่อยากให้ แต่ทุกอย่างที่พวกท่านให้เรามามันคือทั้งหมดที่พวกท่านมี   ท่านยอมลำบากเพื่อให้ลูกสบาย   ยอมเหนื่อยเพื่อให้ลูกได้เรียน  ยอมออยากเพื่อให้ลูกอิ่ม 

                มีอีกหลายเรื่องมากมายที่พวกท่านทำเพื่อลูก  แต่ลูกกลับไม่เคยรับรู้และเข้าใจเหตุผลเหล่านั้นของท่านเลย   ลูกหลายคนเอาแต่ความรู้สึกของตัวเอง  มองแค่สิ่งที่ต้องการ  แต่กลับไม่เคยมองดูรอบข้างว่าพ่อแม่เหนื่อยและลำบากมากขนาดไหนกว่าจะหาแต่ละอย่างที่ลูกต้องการได้   ที่พวกท่านยอมขนาดนี้ก็เพราะคำ ๆ เดียวที่มีให้ลูก ก็คือ คำว่ารัก

                 ไม่ว่าใครก็ต่างอยากให้พ่อแม่เข้าใจในตัวเรา   แล้วเราล่ะ เคยทำความเข้าใจในตัวของพวกท่านบ้างหรือเปล่า ?

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ก่อนฝน” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี “ก่อนฝน” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ        

                      อ่านบทกวีบทนี้แล้วนึกถึงตัวเองในวัยเด็กเลย  ตอนเด็ก ๆ คุณเคยวาดรูปก้อนเมฆกันใช่ไหมคะ  มองฟ้าแล้วก็วาดตามรูปเมฆ  วาดแล้วก็ลบ ลบแล้วก็วาดใหม่  เพราะเมฆมันไม่เคยอยู่เฉย ๆ ให้เราวาดเสร็จเลย  เงยหน้ามาทีไร มันก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว  ทุกเอาวุ่นเหมือนกันในบางที

                      แต่ว่าการที่เราวาดรูปเมฆที่ลอยไปลอยมาอยู่บนนั้นมันกลับทำให้เรามีความสุขและสนุกอยู่ไม่น้อย  พอวาดไม่ได้เราก็วิ่งไล่ตามเมฆแทน วิ่งตามเพื่อดูว่ามันจะหนีเราไปไหนได้   ทำเอาเหนื่อยไม่น้อยที่ต้องไล่ตาม  เพราะเมฆมีหลายก้อนเราก็เลยเปลี่ยนไป ๆ มา เดี๋ยวจับก้อนนู้นเดี๋ยวตามก้อนนี้

                      ซึ่งการได้ทำสิ่งเหล่านี้มันมีความสุขไม่น้อยเลย   มันทั้งมีความสุขและสนุกในแบบที่เด็ก ๆ เราเคยทำกัน  ความสุขนี้มันเป็นความสุขที่ออกมาจากใจของเรา  โดยไม่มีการปรุงแต่งหรือความคิดซับซ้อนอะไร   มันคือความสุขความพอใจกับสิ่งรอบตัวที่เรามี  ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถครอบครองก้อนเมฆก้อนไหนได้เลย  แต่เราก็ชอบที่เมฆมันลอยไปลอยมาในบนฟ้าที่กว้างใหญ่และสวยงาม  

                      ฉันคิดว่า  ความสุขในวันเด็กนั้นเป็นความสุขที่เรียบง่าย  ไม่ต้องมีองค์ประกอบอะไรมากมายในชีวิตเหมือนตอนเราโต  ตอนเด็ก ๆ แค่ไล่จับก้อนเมฆเราก็มีความสุขและสนุกที่สุดแล้ว  แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นมาเรากลับไม่รู้สึกมีความสุขหรือสนุกเท่าตอนนั้นเลย   ทั้งที่เรามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากกว่าสมัยก่อนมาก อยากรู้อะไรก็สามารถกดค้นหาตามแหล่งข้อมูลได้ทันที  อยากสนุกก็แค่เล่นเกมในโทรศัพท์ไม่ต้องไปวิ่งเล่นเหมือนตอนเด็ก ๆ ก็สนุกได้   

                      แต่ฉันกลับคิดว่า การที่เราไม่มีความสุขและสนุกเท่ากับตอนเด็กนั้น อาจจะเพราะเราต่างต้องการสิ่งต่าง ๆ  เข้ามาในชีวิตมากยิ่งขึ้น   ทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เริ่มเข้ามาในชีวิต  เรากลับรู้สึกต้องการสิ่งต่าง ๆ เพื่อมาเติมเต็มให้ตัวเองมีความสุขอยู่ตลอดเวลา  แต่เรากลับลืมมองย้อนกลับไปว่า ความสุขมันอยู่ที่ใจของเราที่พร้อมจะเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมากกว่าการสนใจแค่สิ่งที่เราคิดว่าสามารถทำให้เรามีความสุขได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม