วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “รถคันใหม่” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี “รถคันใหม่” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทนี้นะคะอ่านแล้วได้ใจความว่า  พ่อได้พูดปลอบใจลูกชายเรื่องรถคันใหม่ที่ลูกอยากได้   เพราะตอนนี้พ่อยังไม่สามารถ
ให้ตามที่ลูกขอได้   ลูกชายอยากได้รถมอเตอร์ไซค์  แต่สิ่งที่พ่อให้ได้ตอนนี้เป็นจักรยาน   เงินของพ่อก็พอมีที่จะซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกได้ แต่ว่าพ่อต้องเก็บเอาเงินส่วนนั้นไว้ใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นมากกว่า  ไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาลในยามที่เจ็บไข้   เพราะเหตุผลเหล่านี้พ่อจึงซื้อรถมอเตอร์ไซค์ตามที่ลูกต้องการไม่ได้  

                แต่เมื่อพ่อและแม่เห็นใบหน้าเศร้าเสียใจของลูกชาย  จึงรู้สึกสะเทือนใจเหมือนมีเข็มมาทิ่มที่หัวใจ   ทำให้พ่อและแม่ต้องพยายามทำงานหาเงินอย่างหนัก  เพื่อวันข้างหน้าจะสามารถซื้อรถคันใหม่ตามที่ลูกต้องการ

                ใครหลายคนอาจจะเคยไม่เข้าใจพ่อแม่เหมือนดังลูกชายในบทกวีนี้   ด้วยความที่เราเป็นเด็ก  เราเคยได้รับทุกอย่างที่เราต้องการ  โดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่าพ่อแม่ลำบากขนาดไหนกว่าจะซื้อหาในสิ่งที่เราอยากได้   หลายคนอาจจะเคยน้อยใจ  ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงให้ไม่ได้   ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนก็ไม่เคยขัดใจ  หรือที่ไม่ให้แปลว่าพ่อแม่ไม่รักเราแล้ว

                แต่เมื่อเราได้เติบโตขึ้นมาอีกช่วงหนึ่งของชีวิต  เราจึงทราบว่าที่พวกท่านให้เราในตอนนั้นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพวกท่านไม่รัก  ไม่ใช่ว่าพวกท่านไม่อยากให้ แต่ทุกอย่างที่พวกท่านให้เรามามันคือทั้งหมดที่พวกท่านมี   ท่านยอมลำบากเพื่อให้ลูกสบาย   ยอมเหนื่อยเพื่อให้ลูกได้เรียน  ยอมออยากเพื่อให้ลูกอิ่ม 

                มีอีกหลายเรื่องมากมายที่พวกท่านทำเพื่อลูก  แต่ลูกกลับไม่เคยรับรู้และเข้าใจเหตุผลเหล่านั้นของท่านเลย   ลูกหลายคนเอาแต่ความรู้สึกของตัวเอง  มองแค่สิ่งที่ต้องการ  แต่กลับไม่เคยมองดูรอบข้างว่าพ่อแม่เหนื่อยและลำบากมากขนาดไหนกว่าจะหาแต่ละอย่างที่ลูกต้องการได้   ที่พวกท่านยอมขนาดนี้ก็เพราะคำ ๆ เดียวที่มีให้ลูก ก็คือ คำว่ารัก

                 ไม่ว่าใครก็ต่างอยากให้พ่อแม่เข้าใจในตัวเรา   แล้วเราล่ะ เคยทำความเข้าใจในตัวของพวกท่านบ้างหรือเปล่า ?

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ก่อนฝน” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี “ก่อนฝน” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ        

                      อ่านบทกวีบทนี้แล้วนึกถึงตัวเองในวัยเด็กเลย  ตอนเด็ก ๆ คุณเคยวาดรูปก้อนเมฆกันใช่ไหมคะ  มองฟ้าแล้วก็วาดตามรูปเมฆ  วาดแล้วก็ลบ ลบแล้วก็วาดใหม่  เพราะเมฆมันไม่เคยอยู่เฉย ๆ ให้เราวาดเสร็จเลย  เงยหน้ามาทีไร มันก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว  ทุกเอาวุ่นเหมือนกันในบางที

                      แต่ว่าการที่เราวาดรูปเมฆที่ลอยไปลอยมาอยู่บนนั้นมันกลับทำให้เรามีความสุขและสนุกอยู่ไม่น้อย  พอวาดไม่ได้เราก็วิ่งไล่ตามเมฆแทน วิ่งตามเพื่อดูว่ามันจะหนีเราไปไหนได้   ทำเอาเหนื่อยไม่น้อยที่ต้องไล่ตาม  เพราะเมฆมีหลายก้อนเราก็เลยเปลี่ยนไป ๆ มา เดี๋ยวจับก้อนนู้นเดี๋ยวตามก้อนนี้

                      ซึ่งการได้ทำสิ่งเหล่านี้มันมีความสุขไม่น้อยเลย   มันทั้งมีความสุขและสนุกในแบบที่เด็ก ๆ เราเคยทำกัน  ความสุขนี้มันเป็นความสุขที่ออกมาจากใจของเรา  โดยไม่มีการปรุงแต่งหรือความคิดซับซ้อนอะไร   มันคือความสุขความพอใจกับสิ่งรอบตัวที่เรามี  ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถครอบครองก้อนเมฆก้อนไหนได้เลย  แต่เราก็ชอบที่เมฆมันลอยไปลอยมาในบนฟ้าที่กว้างใหญ่และสวยงาม  

                      ฉันคิดว่า  ความสุขในวันเด็กนั้นเป็นความสุขที่เรียบง่าย  ไม่ต้องมีองค์ประกอบอะไรมากมายในชีวิตเหมือนตอนเราโต  ตอนเด็ก ๆ แค่ไล่จับก้อนเมฆเราก็มีความสุขและสนุกที่สุดแล้ว  แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นมาเรากลับไม่รู้สึกมีความสุขหรือสนุกเท่าตอนนั้นเลย   ทั้งที่เรามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากกว่าสมัยก่อนมาก อยากรู้อะไรก็สามารถกดค้นหาตามแหล่งข้อมูลได้ทันที  อยากสนุกก็แค่เล่นเกมในโทรศัพท์ไม่ต้องไปวิ่งเล่นเหมือนตอนเด็ก ๆ ก็สนุกได้   

                      แต่ฉันกลับคิดว่า การที่เราไม่มีความสุขและสนุกเท่ากับตอนเด็กนั้น อาจจะเพราะเราต่างต้องการสิ่งต่าง ๆ  เข้ามาในชีวิตมากยิ่งขึ้น   ทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เริ่มเข้ามาในชีวิต  เรากลับรู้สึกต้องการสิ่งต่าง ๆ เพื่อมาเติมเต็มให้ตัวเองมีความสุขอยู่ตลอดเวลา  แต่เรากลับลืมมองย้อนกลับไปว่า ความสุขมันอยู่ที่ใจของเราที่พร้อมจะเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมากกว่าการสนใจแค่สิ่งที่เราคิดว่าสามารถทำให้เรามีความสุขได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม


วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ชีวิตใหม่” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ


ชื่อบทกวี “ชีวิตใหม่” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                เมื่ออ่านบทกวีบทนี้แล้วทำให้นึกถึงสมัยเด็ก ๆ ที่ผู้ใหญ่มักจะคอยชี้ให้ดูนกที่บินผ่านหรือ บินไปเกาะต้นไม้  แล้วบอกว่า นั้น  เห็นไหม นกเอี้ยง นู้นเห็นไหมนั้นตัวอะไร ผู้ใหญ่ของแต่ละบ้านที่เลี้ยงเด็กเล็ก ๆ คงเข้าใจกันดีกับความสุขที่ได้ชี้นู้นชี้นี้ให้เด็กน้อยมา และมักจะได้รับเสียงหัวเราะจากเด็กน้อยเป็นการตอบรับ

                ชื่อของบทกวีนี้ชื่อว่า ชีวิตใหม่   ชีวิตใหม่ที่ว่านี้คือ  ชีวิตของลูกน้อยตัวเล็ก ๆ ที่เริ่มลืมตาดูโลก   เริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว  นำความน่าตื่นเต้น และลุ้นละทึกมาให้ผู้ใหญ่ตลอดเวลา  ผู้ใหญ่ได้พยายามสอน พยายามเอาใจช่วยให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปตามวัย   ทั้งการสอนให้เรียกพ่อ เรียกแม่  สอนการตั้งไข่ ให้หัดเดินได้   ไม่ว่าเด็กจะทำอะไรก็ตามก็มักจะมีผู้ใหญ่คอยอยู่ข้าง ๆ ลุ้นเอาใจช่วยอยู่เสมอ

                เมื่อเราทำได้ผู้ใหญ่ก็จะยิ้มดีใจที่เราสามารถทำมันสำเร็จแล้ว  ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการกระทำที่เล็กน้อยของการพัฒนาตามวัย ใคร ๆ ก็ทำได้  แต่มันก็ทำให้ผู้ใหญ่ดีใจ และคุยฟุ้งกับคนอื่นไปได้อีกหลายวัน  บางท่านก็ยังพาเด็กไปโชว์ให้เพื่อนบ้านเห็นกับตาว่าลูกเรา หลานเราโตขึ้นแล้ว  

ฉันคิดว่าทุกอย่างก้าวของการมีชีวิตก็คือการที่เราได้เรียนรู้และเติมโตขึ้นทุกช่วงเวลา   ชีวิตเรามักจะเริ่มต้นเสมอ เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาอย่างไม่รู้จบ  ตั้งแต่เล็กจนโตเราก็ต่างต้องเรียนรู้ทุกอย่างไปจนกว่าจะถึงวันที่เราหมดลมหายใจไป    แต่กว่าที่จะถึงวันที่เราหมดลมหายใจ  ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนโตขึ้นมา ก็ทำให้เรารู้ว่า พ่อและแม่ท่านยังรักเราเสมอ  และยังเป็นเหมือนเดิมเมื่อสมัยเด็ก ๆ ที่ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามเมื่อเราประสบความสำเร็จท่านก็มักจะดีใจและยินดีกับเรามากเสียกว่าตัวเราเองเสียอีก  ท่านก็ยังคอยลุ้นเอาใจช่วย และส่งแรงเชียร์ให้เราทำให้สำเร็จ  เมื่อเราล้มท่านจะให้เราลุกเองก่อน  ถ้าเราลุยไม่ได้ท่านก็พร้อมที่จะช่วยฉุดมือของเรานั้นขึ้นมาเสมอ เมื่อเรายืนได้ทานก็กลับไปแอบยืนมองเรา และลุ้นทุกอย่างไปกับเราเหมือนอย่างที่เคยทำ ไม่ว่าเราจะเติบโตมากแค่ไหนก็ตาม   เพราะลูกก็เปรียบเหมือนชีวิตใหม่ของพ่อแม่ที่สามารถทำให้พวกท่านมีความสุข มีความทุกข์ มีชีวิตร่วมเหตุการณ์ใหม่ ๆ ไปกับพวกท่านทั้งสอง และลูกยังเติมเต็มให้คำว่าครอบครัวให้ออกมาสมบูรณ์

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รีวิวหนังสือเรื่อง ฆาตกรรมความฝัน ของ ปานศักดิ์ นาแสวง



รีวิวหนังสือเรื่อง  ฆาตกรรมความฝัน



รีวิวหนังสือเรื่อง  ฆาตกรรมความฝัน



ชื่อเรื่อง                   ฆาตกรรมความฝัน
ผู้แต่ง                    ปานศักดิ์  นาแสวง  
สำนักพิมพ์             Post Books

        
        หนังสือเล่มนี้เป็นแนวเกี่ยวกับสะท้อนสังคมอีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจมาก  เพราะเรื่องสั้นในแต่ละตอนของหนังสือเล่มนี้  มักจะทำให้เกิดคำถามเสมอว่า อะไรถูกอะไรผิด  บางอย่างจากผิดเป็นถูก บางอย่างจากถูกแต่กลายเป็นผิด  หรือบางอย่างมันอาจจะไม่ได้ผิดปกติอะไรเลยแม้แต่น้อย  แต่กลับถูกมองว่าผิดเพราะไม่เหมือนคนในสังคมที่เขาทำกัน  

                เราไม่สามารถสรุปอะไรได้เลย  ว่าเพราะอะไรเขาถึงทำแบบนั้น เขาถึงเลือกแบบนั้น  ทำไมเขาถึงเชื่อแบบนั้น   เราไม่สามารถรู้อะไรเลยนอกจากตัวชองเราเอง  เรารู้ดีเสมอว่าเราทำอะไร เราเป็นอะไร เช่น เรื่อง เด็กหญิงความสุขไม่เคยหัวเราะ

                เรื่องนี้ที่ยกมาเป็นเรื่องที่สามในเล่มนี้  ที่ฉันชอบเพราะว่ามันสะท้อนในสังคมด้านการตัดสินคนอื่นจากกฎของสังคม   เด็กหญิงความสุขเป็นเด็กที่ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยหัวเราะเลยสักครั้ง  ทำให้ที่บ้านเป็นกังวลเพราะคิดว่าเธอไม่เหมือนคนปกติ  จนต้องพาไปหาหมอ  เพื่อให้เธอหัวเราะ   และสุดท้ายเธอทะลักเสียงหัวเราะออกมา  ซึ่งเสียงหัวเราะของเธอที่ใคร ๆ อยากให้เธอทำนั้นมันกลับกลายเป็นเสียงที่โหยหวนและวังเวง  เหมือนเสียงสัตว์ได้รับความบาดเจ็บ

                มันทำให้เห็นว่าเราได้สูญเสียการเป็นตัวเองเพื่อทำให้เป็นไปตามกฎของสังคม  เป็นไปตามค่านิยมของสังคมที่คนส่วนใหญ่นิยม  เพราะการเป็นตัวเองเราไม่ได้รับการยอมรับของคนรอบข้าง  และมักจะถูกมองว่าเป็นผู้ป่วยหรือคนผิดปกติ  ต้องได้รับการรักษาเพื่อให้เป็นไปตามสังคมรอบข้างเขานิยมกัน  เรื่องนี้คงเป็นตลกร้ายเสียมากกว่าที่จะขบขันได้ลงสำหรับฉัน

                และในเล่มนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจรออยู่อีกเพียบ  ใครที่สนใจหนังสือเล่มนี้ก็ลองหามาอ่านกันนะคะ  รับรองว่าถ้าใครชอบแนวนี้  คุณจะต้องอ่านจนวางไม่ลงแน่ ๆ     

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ภูมิใจนะที่รัก” ในกวีนิพนธ์ “ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ



ชื่อบทกวี “ภูมิใจนะที่รัก” ในกวีนิพนธ์ ครอบครัวดวงตะวัน” โดย ศิวกานท์  ปทุมสูติ

ตีความ

                บทความนี้เห็นถึงความรักความอบอุ่นที่มีอยู่ของคนในบ้านหลังหนึ่งไม่ต้องมีอะไรเลิศหรู  ไม่ต้องมีคนมากมาย ไม่ต้องมีอะไรที่วิเศษหรือใหญ่โตเหมือนคนอื่น ๆ แต่บ้านหลังนี้มันก็ทั้งใหญ่โตและแสนวิเศษมากพอสำหรับคนที่อยู่อาศัยแล้ว   
    
            ทำให้เห็นว่าความสุขมันไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวหรือหายากเลย  แต่มันอยู่ที่ตัวเราและความสุขของเรามันคงจะขาดสิ่งสำคัญไปไม่ได้เลยนั้นก็คือคนที่เรารัก 

 ในบทนี้ได้มีการเรียกบ้านว่าวัง  ฉันคิดว่าก็คงไม่แปลกอะไรที่จะเรียกว่าวัง  บ้านของเราก็ไม่ต่างจากวังของเราเท่าไหร่  เพราะในบ้านของเราเราใหญ่สุด (แต่ก็อาจจะไม่เท่าราชินีของบ้าน)   สิ่งที่ประกอบรายล้อมไปในวังแห่งนี้ก็คือ บรรยากาศธรรมชาติที่ประกอบไปด้วยแสงแดด สายลม หมอก หรือแม้แต่ไก่ที่ขันในยามเช้า 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้บรรยากาศดีๆก็คือคนที่อยู่ในบ้าน  ในบ้านนี้มีกันแค่สองคน  คือราชากับราชินี   ถ้าโดยเปรียบเทียบการที่พูดถึงวัง ก็คงตีความหมายได้ว่าใหญ่โต หรูหรา โอฬาร  มีคนใช้มากมาย  มีนางสนมคอยปรนนิบัติราชา  ถึงจะเป็นวังที่เพียบพร้อมและมีความสุขสมจริงอย่างในละคร   แต่ว่าวังแห่งนี้กลับต่างออกไป  เพราะถึงแม้ว่าจะมีกันอยู่แค่สองคนแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสุขขาดหายไป  ทำให้เห็นว่าความสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่สิ่งอื่นใดเลยนอกจากใจที่เป็นสุขของคนในครอบครัว
     

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “สรรพชีพ” ในกาพย์กลอนแห่งอารมณ์ “มิเหมือนแม้นอันใดเลย” โดย ชมจันทร์



ชื่อบทกวี “สรรพชีพ” ในกาพย์กลอนแห่งอารมณ์ มิเหมือนแม้นอันใดเลย” โดย ชมจันทร์

ตีความ

                ในบทนี้เราจะเห็นสิ่งมีชีวิตของเหล่าสัตว์นานาพันธุ์ที่แสดงอาการต่าง ๆ ให้เห็น  บ้างก็ยิ้มแย้ม บ้างก็เจ้าเล่ห์ บ้างก็ดุร้าย  บางชนิดก็มีพิษและไม่มีพิษตามแต่สายพันธุ์

                ถ้าดูโดยรวมแล้วชีวิตของสัตว์เหล่านี้ไม่ได้ต่างจากมนุษย์เท่าไหร่  สัตว์ใช้สัญชาตญาณในการดำเนินชีวิต  แต่มนุษย์นั้นสามารถใช้ได้ทั้งความรู้และสัญชาตญาณในการดำเนินชีวิต  และคนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้สัญชาตญาณมากกว่าความรู้เสียอีก  เช่นการที่เรารับรู้ถึงความอันตรายที่กำลังเข้ามา  เราเพียงแค่รู้สึกแต่เหตุการณ์มันยังไม่ทันเกิด  และเราก็เลือกเชื่อว่ามันมีบางสิ่งที่อันตรายอยู่แถวนี้แต่เรายังไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ว่ามันจะเกิดอะไรต่อไปหลังจากนี้

                ฉันคิดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เราต่างจากสัตว์ก็คือการจำแนกชนิด   สัตว์ชนิดต่าง ๆ เราสามารถแยกได้ว่าสิ่งไหนเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู   แต่หากว่ากับมนุษย์ด้วยกันเองเราไม่สามารถบอกได้เลยว่าใครคือมิตรหรือศัตรู   สมมุติว่าเราเจองู  เราสามารถรู้ได้เลยว่ามันต้องทำร้ายเราเพราะมันเป็นตัวอันตราย   แต่กับมนุษย์ด้วยกันเอง  คุณสามารถบอกได้ไหมว่าคนที่คุณคบเป็นเพื่อนอยู่เขาเป็นคนดีจริงและไม่มีวันทำร้ายคุณ

                แต่ว่าโลกนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่แน่นอนเสมอไป เพราะบางทีมิตรอาจจะกลายเป็นศัตรู หรือว่าศัตรูอาจจะกลายเป็นมิตร  เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครคือมิตรแท้หรือมิตรเทียม   และสิ่งหนึ่งที่คนกับสัตว์มีเหมือนกันก็คือ การให้อภัย   ถ้าถามว่าสัตว์มันมีความคิดเรื่องการให้อภัยได้ด้วยหรือ   ฉันของตอบว่าฉันมันไม่มีความคิดก็จริง แต่มันมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดสูงมาก   และมันก็พร้อมจะเชื่อใจกับสิ่งที่มันรู้สึกว่านั้นคือมิตร ที่ไม่ทำร้ายมัน เช่นการที่คุณมีสัตว์เลี้ยงแล้วคุณตีมัน  มันกลัวมันเจ็บ  แต่หากว่าคุณเดินเข้าไปลูบหัวมัน  ความกลัวมันก็จะคลายลงและกลับมาเป็นสัตว์เลี้ยงของคุณเหมือนเดิมและภัคดีต่อคุณเหมือนเดิม  ต่อให้คุณจะทำร้ายมันอีกในวันข้างหน้าก็ตาม  แบบนี้เรียกว่าการให้อภัยของสัตว์เลี้ยงได้ไหมล่ะ  คนเราก็ไม่ต่างกัน  การที่เราจะอยู่ร่วมกับใครได้ ไม่ว่าเราจะเคยมีเรื่องอะไรกันมาก็ตาม  ทุกอย่างที่เคยบาดหมางมันจะจบลงได้ทันที ถ้าหากว่าเราและเขาให้อภัยซึ่งกันและกัน 

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ในสวนโลก” ในกาพย์กลอนแห่งอารมณ์ “มิเหมือนแม้นอันใดเลย” โดย ชมจันทร์



ชื่อบทกวี “ในสวนโลก” ในกาพย์กลอนแห่งอารมณ์ มิเหมือนแม้นอันใดเลย” โดย ชมจันทร์

ตีความ
                
           ในบทนี้เราจะได้พบชื่อดอกไม้ต่าง ๆ นานาชนิดไม่ว่าจะเป็น  ดอกมะลิ ดอกบัว ดอกกล้วยไม้ ดอกกุหลาบ ดอกชบา ดอกพวงชมพู ดอกทานตะวัน ดอกดาวเรือง และอีกหลาย ๆ ชนิดอีกมากมายที่ผู้ประพันธ์ได้เอ่ยถึง
                
          คุณอาจจะงงทำไมอยู่ ๆ ถึงพูดถึงดอกไม้ขึ้นมาดอกไม้ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เปรียบเสมือนมนุษย์ทั่วไปที่มีหลายนิสัยใจคอ  รวมถึงรูปร่างหน้าตา ความสวยงาม และความชอบของแต่ละคน   คุณอาจจะเคยเห็นว่าดอกไม้บางดอกก็สามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีดอกไม้ชนิดเดียวกันอยู่ด้วยกัน  บางดอกอาจจะไม่สามารถเติบโตเมื่ออยู่ในกลุ่มชนิดเดียวกันได้   บางกลุ่มก็ต้องมีพื้นที่ของตัวเองโดยเฉพาะ แต่ก็มีบางชนิดที่เติบโตในที่ของสายพันธุ์อื่นได้ดีกว่าอยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน  
               
          ฉันคิดว่า มนุษย์เราก็เช่นกัน  บางคนเลือกที่จะอยู่กับคนที่เหมือนกันเพราะเข้ากันได้ดี  เขาใจกันมากกว่า  บางคนเลือกที่จะอยู่กับคนที่ต่างกันเพราะการมองอะไรที่ต่างกันมันก็ทำให้เราเข้าใจอะไรได้มากกว่า  หรือบางคนเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ของตัวเองมากกว่าจะเข้าใกล้ใครมากเกินความจำเป็น   ก็คงไม่ต่างอะไรกับดอกไม้ ไม่ว่าจะอยู่แบบไหน ก็ยังมีความสวยสดงดงามในแบบของมันเอง    ทุกอย่างบนโลกต่างมีขอบเขตของตัวเองไม่ว่าจะคนหรืออะไรก็ตาม  แต่ว่าเราทุกคนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลกเสมอไป  ลองมองไปรอบ ๆ ต่อให้เราจะไม่รู้จักใครในที่ตรงนั้นก็ตาม  ตราบใดที่เรายังเห็นผู้คนเหล่านั้นเดินรายล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเรามันก็คงไม่ใช่การอยู่คนเดียวเสมอไป  แต่ที่เราคิดว่าเราอยู่คนเดียวอาจจะเพราะโลกนี้มันกว้างไปเกินกว่าเราจะรู้จักคนทุกคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา  

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตีความ ชื่อบทกวี “ปรุงฝันปรับไฟ” ในกาพย์กลอนแห่งอารมณ์ “มิเหมือนแม้นอันใดเลย” โดย ชมจันทร์



ชื่อบทกวี “ปรุงฝันปรับไฟ” ในกาพย์กลอนแห่งอารมณ์ มิเหมือนแม้นอันใดเลย” โดย ชมจันทร์

ตีความ

                บทนี้เกี่ยวกับเส้นทางของอาชีพนักเขียน   เราจะเห็นว่าในโลกของวรรณกรรมเป็นโลกที่มีสีสันมากมาย  มีหลายประเภท และความหลากหลายของเนื้อหาที่อยู่ในประเภทเดียวกันก็ตาม   วรรณกรรมก็เปรียบกับดอกไม้ในสวนที่มีผีเสื้อมาดอมดม ดอกนู้นที่ ดอกนี้ที หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปตามกาลเวลา   แต่ละดอกก็จะมีบางสิ่งที่เหมือนกันบ้างแต่ก็ไม่ทั้งหมด  ไม่มีดอกไหนที่สามารถเหมือนดอกอื่นได้อย่างร้อยเปอร์เซ็น

ดอกไม้แต่ละดอก ต่างมีช่วงเวลาเป็นของตัวเอง  บางดอกใช้เวลานานมากกว่าจะเป็นดอกที่สุขงอมสวยงานขึ้นมา  แต่บางดอกก็เบ่งบานได้เร็วในระยะเวลาสั้น ๆ  ถึงแม้ช่วงเวลาของแต่ละดอกจะต่างกัน แต่ก็ไม่มีดอกไหนที่สามารถจะอยู่ค้ำฟ้าไม่มีวันตาย  หรือบางดอกอาจจะไม่ทันได้เกิดก็เหี่ยวเฉาตายไปแล้ว

ถึงแม้ว่าดอกไม้ทุกดอกจะมีวันตายก็ตาม  แต่ทางที่จะทำให้เราสามารถมีตัวแทนขยายพันธุ์ออกไปได้ก็คือผีเสื้อ   ผีเสื้อก็เปรียบเหมือนกับมนุษย์  ตามใดที่ยังมีผีเสื้อมาดอมดมดอกไม้  ดอกไม้ก็ยังสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากไม่มีผีเสื้อดอกไม้ก็คงไม่สามารถขยายพันธุ์ได้  

ซึ่งดอกไม้และผีเสื้อก็ไม่ต่างจากนักเขียนและผู้อ่าน  ตราบใดที่ยังมีผู้อ่านก็ต้องมีผู้เขียน  เพราะหากขาดผู้อ่านไป ผู้เขียนก็ไม่สามารถอยู่ได้  ก็เหมือนดอกไม้เมื่อไม่มีผีเสื้อก็ต้องตายลงไป   และดอกไม้จะเป็นดอกไม้ที่สมบูรณ์ไม่ได้หากไม่มีผีเสื้อมาดอมดมและผสมเกสรให้ได้ขยายพันธุ์ต่อไป

ดอกไม้ทุกดอกต่างมีค่าและความงามในตัวของมันเอง  ถึงแม้เราอาจจะไม่ใช่ดอกไม้ที่สวยที่สุด  งามที่สุด เบ่งบานมากที่สุดก็ตาม  แต่มันก็มีค่าและสวยที่สุดในแบบที่เราเป็นก็พอ