วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ตีความ บทกวี “จุดหมาย” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา

 


              บทกวีบทนี้ได้แสดงให้เห็นในเรื่องของความคิดสำหรับวัยล้าท้าฝันหรือก็คือ ความคิดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงของวัยการเป็นนักศึกษาที่คิดอยากจะทำให้โลกนี้มีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ต้องการที่จะทำให้เรื่องของชนชั้นที่เป็นอยู่นั้นได้หายไป ต้องการที่จะเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ในโลกให้มีความยุติธรรมมากที่สุด ทุกสิ่งเหล่านี้ได้เกิดเป็นความคิดของคนรุ่นใหม่ที่รับไม่ได้กับโลกใบเก่าที่มีความเหลื่อมล้ำมากจนเกิน แต่การที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายและดูเหมือนว่าเป็นเรื่องยากมาก ๆ อีกด้วย

              ในความคิดของผู้ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ใช่ความคิดที่ดีของใครหลายคน เพราะไม่ว่าจะเรื่องของผลประโยชน์ต่าง ๆ การที่มีคนคิดที่จะดึงความยุติธรรมออกมากลับกลายเป็นว่าสังคมเกิดความรังเกลียดคนเหล่านี้ เพราะมีความคิดที่แปลกแยก ทุกสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้เมื่อตอนที่อยู่มหาลัยจึงเหมือนเป็นการมีศักดิ์ศรีและความทะนงตนที่สูงมาก ๆ แต่เมื่อได้เข้าสู่โลกแห่งความจริงสิ่งเหล่านี้จึงเหมือนกลายเป็นแค่ความฝันในช่วงวัยนั้น การที่จะมีคนที่กล้าที่จะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้และยึดมั่นจริง ๆ กลับเหลือน้อยอยู่เต็มที

              หากคนที่มีความคิดในเรื่องที่อยากจะทำการเปลี่ยนแปลงโลกบางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเพียงแค่ความฝันอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นและดับไป แต่จะมีสักกี่คนที่ยังยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้และต้องการที่จะทำให้เกิดความสำเร็จได้จริง ๆ แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก แต่หากไม่ได้อยากให้เป็นเพียงแค่ฝันต้องผนึกอีกหลายกำลังที่มีความคิดไปในทางเดียวกัน ถึงแม้ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะต้องเจอกับอะไรก็ตาม แต่หากคุณได้ยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้การเผชิญหน้ากับมันสักตั้งก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งในการเรียนรู้ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ตีความ บทกวี “และแล้วก็เลือนไป” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา

 


บทนี้จะเป็นการกล่าวถึงคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโลกใบใหม่ของใครหลายคนที่อยู่ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ และเป็นอีกหนึ่งช่วงวัยที่หลายคนไปไม่ถึงฝันที่วางไว้ เพราะหลงไปกับโลกมายาเหล่านี้เสียก่อน การที่คนเราจะประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ที่เราเลือกชีวิตและเส้นทางการเดินอย่างไร และทุกเส้นทางการเดินนั้นเต็มไปด้วยความรุ่มหลง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรักสถาบันที่ห้ามให้ใครมาหยามเด็ดขาด ที่ต้องมีการเสียเลือดเนื้อเพื่อปกป้องในสิ่งเหล่าานี้ หรือการหลงไปกับสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ที่ไปในทางที่ไม่ดี หรือจะเป็นในเรื่องของการเรียนที่ต้องได้เกียรตินิยม แต่เมื่อทุกอย่างผ่านไปสิ่งที่เหลือไว้ในโลกใบนั้นก็มีแต่ความว่างเปล่า


เชื่อว่าหลายคนเคยวาดฝันในเรื่องของการเข้ามหาลัยไว้อย่างสวยงาม แต่ในชีวิตจริงนั้นไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดและความเชื่อในเรื่องของการได้รับเกียรตินิยมว่าเป็นใบเบิกทางไปสู่อนาคตที่ดีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะชีวิตจริงไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น และชีวิตจริงก็ไม่ได้มองว่าการได้รับเกียรตินิยมจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เพราะชีวิตจริงเต็มไปด้วยความยากหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้าสังคม หรือจะเป็นในเรื่องของการทำงานที่ไม่ตรงกับที่เคยเรียนมา การทำงานไม่ได้ดูที่ผลการเรียนเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องดู ในทางกลับกันคนที่ได้เกียรตินิยมอาจจะหางานได้ยากกว่าคนที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ได้ เพราะบางคนให้ค่าในสิ่งนี้มากเกินไปจนไม่คิดอยากจะเรียนรู้หรือเปิดรับอะไรใหม่ ๆ ในที่ทำงานและเกิดความเชื่อมั่นในความคิดของตนเองมากจนเกินไป ซึ่งไม่มีบทเรียนบทไหนได้สอนในเรื่องของการทำงานและการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ว่าต้องพบเจอกับอะไรบ้าง 


การเข้าสู่วัยแห่งการทำงานทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทั้งสิ้นและไม่ได้มีความโชคดีเหมือนอย่างที่วาดฝันเอาไว้ ในช่วงชีวิตแห่งการจบใหม่เหล่านักศึกษามักจะมีไฟและพร้อมที่จะลุยไปกับทุกอย่าง แต่เมื่อได้เข้าสู่ชีวิตจริงทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คิดทำให้เหล่าความฝันที่วาดไว้ได้พังทลายลงและสิ่งที่เหลืออยู่ในตัวของคนเหล่านี้ก็คือ ความอ้างว้างและความว่างเปล่าที่ไม่สามารถเปล่งแสงและเฉิดฉายเหมือนอย่างที่วาดเอาไว้