วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ตีความ บทกวี “จุดหมาย” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา

 


              บทกวีบทนี้ได้แสดงให้เห็นในเรื่องของความคิดสำหรับวัยล้าท้าฝันหรือก็คือ ความคิดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงของวัยการเป็นนักศึกษาที่คิดอยากจะทำให้โลกนี้มีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ต้องการที่จะทำให้เรื่องของชนชั้นที่เป็นอยู่นั้นได้หายไป ต้องการที่จะเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ในโลกให้มีความยุติธรรมมากที่สุด ทุกสิ่งเหล่านี้ได้เกิดเป็นความคิดของคนรุ่นใหม่ที่รับไม่ได้กับโลกใบเก่าที่มีความเหลื่อมล้ำมากจนเกิน แต่การที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายและดูเหมือนว่าเป็นเรื่องยากมาก ๆ อีกด้วย

              ในความคิดของผู้ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ใช่ความคิดที่ดีของใครหลายคน เพราะไม่ว่าจะเรื่องของผลประโยชน์ต่าง ๆ การที่มีคนคิดที่จะดึงความยุติธรรมออกมากลับกลายเป็นว่าสังคมเกิดความรังเกลียดคนเหล่านี้ เพราะมีความคิดที่แปลกแยก ทุกสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้เมื่อตอนที่อยู่มหาลัยจึงเหมือนเป็นการมีศักดิ์ศรีและความทะนงตนที่สูงมาก ๆ แต่เมื่อได้เข้าสู่โลกแห่งความจริงสิ่งเหล่านี้จึงเหมือนกลายเป็นแค่ความฝันในช่วงวัยนั้น การที่จะมีคนที่กล้าที่จะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้และยึดมั่นจริง ๆ กลับเหลือน้อยอยู่เต็มที

              หากคนที่มีความคิดในเรื่องที่อยากจะทำการเปลี่ยนแปลงโลกบางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเพียงแค่ความฝันอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นและดับไป แต่จะมีสักกี่คนที่ยังยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้และต้องการที่จะทำให้เกิดความสำเร็จได้จริง ๆ แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก แต่หากไม่ได้อยากให้เป็นเพียงแค่ฝันต้องผนึกอีกหลายกำลังที่มีความคิดไปในทางเดียวกัน ถึงแม้ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะต้องเจอกับอะไรก็ตาม แต่หากคุณได้ยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้การเผชิญหน้ากับมันสักตั้งก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งในการเรียนรู้ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ตีความ บทกวี “และแล้วก็เลือนไป” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา

 


บทนี้จะเป็นการกล่าวถึงคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโลกใบใหม่ของใครหลายคนที่อยู่ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ และเป็นอีกหนึ่งช่วงวัยที่หลายคนไปไม่ถึงฝันที่วางไว้ เพราะหลงไปกับโลกมายาเหล่านี้เสียก่อน การที่คนเราจะประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ที่เราเลือกชีวิตและเส้นทางการเดินอย่างไร และทุกเส้นทางการเดินนั้นเต็มไปด้วยความรุ่มหลง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรักสถาบันที่ห้ามให้ใครมาหยามเด็ดขาด ที่ต้องมีการเสียเลือดเนื้อเพื่อปกป้องในสิ่งเหล่าานี้ หรือการหลงไปกับสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ที่ไปในทางที่ไม่ดี หรือจะเป็นในเรื่องของการเรียนที่ต้องได้เกียรตินิยม แต่เมื่อทุกอย่างผ่านไปสิ่งที่เหลือไว้ในโลกใบนั้นก็มีแต่ความว่างเปล่า


เชื่อว่าหลายคนเคยวาดฝันในเรื่องของการเข้ามหาลัยไว้อย่างสวยงาม แต่ในชีวิตจริงนั้นไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดและความเชื่อในเรื่องของการได้รับเกียรตินิยมว่าเป็นใบเบิกทางไปสู่อนาคตที่ดีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะชีวิตจริงไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น และชีวิตจริงก็ไม่ได้มองว่าการได้รับเกียรตินิยมจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เพราะชีวิตจริงเต็มไปด้วยความยากหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้าสังคม หรือจะเป็นในเรื่องของการทำงานที่ไม่ตรงกับที่เคยเรียนมา การทำงานไม่ได้ดูที่ผลการเรียนเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องดู ในทางกลับกันคนที่ได้เกียรตินิยมอาจจะหางานได้ยากกว่าคนที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ได้ เพราะบางคนให้ค่าในสิ่งนี้มากเกินไปจนไม่คิดอยากจะเรียนรู้หรือเปิดรับอะไรใหม่ ๆ ในที่ทำงานและเกิดความเชื่อมั่นในความคิดของตนเองมากจนเกินไป ซึ่งไม่มีบทเรียนบทไหนได้สอนในเรื่องของการทำงานและการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ว่าต้องพบเจอกับอะไรบ้าง 


การเข้าสู่วัยแห่งการทำงานทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทั้งสิ้นและไม่ได้มีความโชคดีเหมือนอย่างที่วาดฝันเอาไว้ ในช่วงชีวิตแห่งการจบใหม่เหล่านักศึกษามักจะมีไฟและพร้อมที่จะลุยไปกับทุกอย่าง แต่เมื่อได้เข้าสู่ชีวิตจริงทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คิดทำให้เหล่าความฝันที่วาดไว้ได้พังทลายลงและสิ่งที่เหลืออยู่ในตัวของคนเหล่านี้ก็คือ ความอ้างว้างและความว่างเปล่าที่ไม่สามารถเปล่งแสงและเฉิดฉายเหมือนอย่างที่วาดเอาไว้

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

ตีความ บทกวี “ว่าง” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา


    บทกวีบทนี้ ทำให้ฉันมองสะท้อนออกมาเป็นภาพของคนสูงวัยคนหนึ่ง ที่กำลังนอนมองไปที่ขอบตึกแห่งหนึ่งที่มีคราบตะไคร่ติดอยู่ ทำให้เขาได้มองย้อนกลับไปในวันเก่า ๆ ที่เคยผ่านมาในชีวิตเขา เขาได้ปลงกับชีวิตที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านตามกาลเวลาตามช่วงวัย สิ่งเก่าผ่านไปสิ่งใหม่เข้ามา สุดท้ายทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นความว่างเปล่า ซึ่งหมายถึงการจากไปด้วยความตายนั่นเอง 
    
    บทกวีนี้ทำให้ฉันรู้สึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของคนเราทุกคนเกิดมาเพื่อสร้าง สร้างหนี้ สร้างครอบครัว สร้างบ้าน และอะไรอีกมากมายที่เราทำเพื่อความต้องการของตัวเองและสังคม เมื่อเวลาผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะกลายเป็นสิ่งเก่า และทุกอย่างก็เกิดการเปลี่ยนแปลง และศูนย์หายไปตามกาลเวลา แม้กระทั้งชีวิตของเรา ทุกอย่างเกิดขึ้นและหายไปตามกาลเวลาเหลือไว้เพียงความทรงจำบางอย่างเท่านั้น 

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ตีความ ชื่อบทกวี “ปรัชญาราตรี” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา




    บทกวีบทนี้เป็นการพูดถึงท้องฟ้าเปรียบกับชีวิตของคนเรา  ที่มีความสวยงาม สว่างไสว โชติช่วงและล่วงดับไปตามกาลเวลา

    ฉันเชื่อว่าทุกคนต่างเคยมองท้องฟ้าในยามค่ำคืนกันใช่ไหม ท้องฟ้าที่มีหมู่ดาว มีพระจันทร์ มีก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนฟ้า​ ซึ่งบางคนมองท้องฟ้าแล้วรู้สึกเหงา บางคนมองท้องฟ้าแล้วรู้สึกสดชื่น เหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตที่สดใสในวันพรุ่งนี้ บางคนมองท้องฟ้าแล้วมีความสุข และบางคนมองท้องฟ้าแล้วมีความเศร้า บางคืนท้องฟ้าสว่างไสวเต็มไปด้วยหมู่ดาว  แต่บางคืนท้องฟ้าก็มืดหม่น มองเห็นแต่ความว่างเปล่าและเดียวดาย​ 

    บทกวีบทนี้ทำให้ฉันรู้สึกว่า บนท้องฟ้าก็เปรียบเหมือนดั่งชีวิตของเราที่อยู่บนโลก  โลกนั้นกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆมากมายที่ชีวิตเราต้องเจอ  เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าชีวิตในแต่ละวันเราจะเจอกับอะไร ดาวก็เหมือนตัวแทนของเราเองที่อยู่บนโลก บางวันชีวิตเราก็สดใสเต็มไปด้วยผู้คนมากมายที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เต็มไปด้วยความสุขและมีชีวิตชีวา​ 

    แต่บางครั้งมันก็อ้างว้างเมื่อรอบข้างที่เรายืนเต็มไปด้วยผู้คนที่เราไม่รู้จักใครเลยสักคน มันก็ทำให้รู้สึกโดดเดียวและโหยหาบางสิ่งบางอย่างที่จะมาช่วยเติมเต็มในชีวิต  เพื่อให้ชีวิตกลับมาสดใสอีกครั้ง และสุดท้ายทุกอย่างย่อมมีการสิ้นสุดลง 

    เมื่อเวลาที่ต้องล่วงหล่นลงจากฟ้ามาถึง เพื่อมีดาวดวงใหม่ขึ้นมาทดแทน ก็เหมือนชีวิตของเราที่ต้องลาโลกไปในที่สุดเมื่อหมดเวลาของชีวิต และมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นมาแทนบนโลกใบนี้

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562

ตีความ ชื่อบทกวี “นิยายยาง” ในกวีนิพนธ์แห่งชีวิต “ใบไม้ที่หายไป” โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา




บทกวีบทนี้เป็นการเล่าเรื่องของต้นยางที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความแห้งแล้ง แต่กลับสามารถที่จะหยั่งรากลงดินและสามารถเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชในประเภทอื่นได้  ต้นยางสามารถที่จะเติบโตเป็นต้นยางให้คนสามารถกรีดเอาไปเลี้ยงชีพได้  และในช่วงท้ายได้มีการพูดถึงเรื่องแม่ผู้เสียสละและมีพระคุณกับลูกซึ่งเป็นบุญคุณที่หาที่สุดไม่ได้

ซึ่งในจุดนี้จากบทกวีบทนี้ทำให้ฉันรู้สึกว่า  ต้นยางก็มิได้ต่างอะไรกับแม่ ถึงแม้จะลำบากแต่ก็ยังหยั่งรากลงดิน เป็นฐานยึดหลักเพื่อให้ลูกเติบโตได้ น้ำยางก็เหมือนกับนมที่สามารถนำมาเลี้ยงคนเราให้เจริญเติบโตได้  

ถึงแม้ว่าต้องแลกกับการโดนกรีด โดยมีดกรีดเป็นแผลอยู่ที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม  ทุกอย่างก็คือการเสียสละ อันเป็นพระคุณอย่างยิ่งที่ทำให้เห็นถึงคุณค่า และความอดทนในการเลี้ยงดู ถึงแม้สิ่งที่เจอในชีวิตจะลำบากก็ตาม 

ซึ่งหากมองบนรอยของต้นยางก็เหมือนเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า บาดแผลบนนั้นเป็นรอยที่ทำให้เห็นว่าทั้งความรัก บุญคุณและความอดทนของแม่ที่เลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย 

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รีวิวหนังสือเรื่อง A History of Thailand (ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย) ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร


รีวิวหนังสือเรื่อง A History of Thailand (ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย) ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

                                                                                                                                               
หนังสือเรื่อง                     A History of Thailand (ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย)

ผู้เขียน                             คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สำนักพิมพ์                      มติชน


    หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีความน่าสนใจมาก และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันอ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้วไม่มีความง่วงเหงาหาวนอน  นอกจากไม่ง่วงแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังทำให้ฉันรู้สึกกระหายใคร่รู้มากขึ้นในสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในสมัยต่าง ๆ ความแตกต่างของหนังสือเล่มนี้กับประวัติศาสตร์เล่มอื่น ๆ ที่ผ่านมาในช่วงวัยเรียนได้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ มีที่มาที่ไปและหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากในการรองรับข้อมูลต่าง ๆ จากผู้แต่ง  และหลักฐานเหล่านั้นก็เป็นการยืนยันได้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคือความจริงที่เราควรยอมรับกับมัน 
           

     หนังสือเล่มนี้เหมาะกับทุกช่วงวัยที่ต้องการจะศึกษาหาความรู้ในประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ขอให้เชื่อในสิ่งที่ฉันได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่ฉันอยากให้พวกคุณได้ลองสัมผัสหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเองจะดีกว่า แล้วคุณจะรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นมันแตกต่างกับในตำราที่เคยได้ถูกสอนสั่งในสมัยเด็กอย่างสิ้นเชิง