วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

วรรณกรรมวิจารณ์




วรรณกรรมวิจารณ์
          ความหมายของวรรณกรรมวิจารณ์มีผู้รู้หลายท่านให้ความหมายไว้ดังนี้
          Cassellys Encyclopedia of Literary (1953: 126)   ให้ความหมายว่า วรรณกรรมวิจารณ์ คือ ศิลปะในการวินิจฉัยวรรณกรรมโดยพิจารณาว่า   เพราะอะไร   เพราะเหตุใด   ที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนั้นได้รับการตัดสินว่าดีหรือเลว
          อาบรามส์ (Abrams 1971: 36)   ได้ให้คำจำกัดความว่า   การวิจารณ์วรรณกรรมคือ สาขาหนึ่งของการศึกษาวรรณกรรม   โดยการอธิบายจำแนกแยกแยะและการให้รายละเอียดเกี่ยวกับวรรณกรรมตลอดจนการประเมินค่า
          เจตนา นาควัชระ (2514: 11)   ให้ความหมายของการวิจารณ์อย่างกว้าง ๆ ว่า คือการแสดงความเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรม
          รัญจวน อินทรกำแหง (2515: 15)   กล่าวว่า การวิจารณ์วรรณกรรมคือ การอ่านอย่างพิจารณา   เพื่อดูข้อเด่นและข้อบกพร่อง   พร้อมกันนำมาบอกกล่าวให้ผู้อ่านได้ทราบข้อเด่นและข้อด้อยเหล่านั้น   โดยการเขียนหรือพูดก็ได้
          สิทธา พินิจภูวดล (2515: 480)   ก็ได้ให้ความหมายที่ไม่ต่างกันนักว่า การวิจารณ์วรรณกรรมคือ การตัดสินคุณภาพของข้อเขียนว่าอะไรคือส่วนดีและส่วนเสีย   โดยต้องอาศัยความซาบซึ้งเป็นเบื้องต้นและความเข้าใจในทฤษฎีวรรณกรรมเป็นเบื้องปลาย
          ธัญญา สังขพันธานนท์ (2539 :18-19)   ความหมายของคำว่า วรรณกรรมวิจารณ์   เป็นการพิจารณาคุณค่าของหนังสือหรือบทประพันธ์โดยชี้ให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับงานประพันธ์   เพื่อที่จะประเมินค่า หรือ ชี้ให้เห็นข้อเด่นข้อด้อยว่าเป็นอย่างไร หรือเพราะเหตุใด   นอกจากนี้แล้วการวิจารณ์ก็มีลักษณะที่เป็นกระบวนการและมีขั้นตอนที่ค่อนข้างแน่นอน   มีองค์ประกอบ คือ
1.การวิเคราะห์หารายละเอียดของวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ   เช่น   การวิเคราะห์องค์ประกอบ   การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ  เช่น  ภาษา   รูปแบบการประพันธ์   กลวิธีการแต่งตลอดจนการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ
2.การอธิบายความ   หมายถึง   การอธิบายให้ความกระจ่างในสิ่งที่ได้วิเคราะห์   เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้จากตัวบทวรรณกรรมนั้น ๆ เช่น การอธิบายถึงคุณลักษณะต่าง ๆ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ของการวิจารณ์  
3.การตีความจะช่วยให้เกิดความกระจ่างในวรรณกรรมได้มากขึ้น   การตีความนั้นต้องอาศัยการวิเคราะห์และการอธิบายความเป็นเบื้องต้น   การตีความช่วยให้เข้าใจเนื้อหาและเจตนาของวรรณกรรมได้ชัดเจนขึ้น  
4.การประเมินค่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการวิจารณ์วรรณกรรมและเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะลงความเห็นว่า   วรรณกรรมเรื่องนั้นมีความเด่นด้อยอย่างไร   การประเมินค่าวรรณกรรมจะต้องมีความเป็นกลางปราศจากอคติ   ซึ่งจะทำได้โดยอาศัยหลักเกณฑ์ในการวิจารณ์เป็นหลักในการวินิจฉัย
          จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า   การวิจารณ์วรรณกรรมเป็นการประเมินค่าหนังสือที่เป็นขั้นเป็นตอนในการวิจารณ์   ซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากในการทำ   เพื่อให้ไขความหมายในบทประพันธ์ที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะสื่อ   ซึ่งอามีความเข้าใจในเนื้อหานั้นถูกต้องหรือผิดก็เป็นหน้าที่ของผู้วิจารณ์ที่จะมีการไขข้อข้องใจกันต่อ ๆ ไป
          การวิจารณ์วรรณกรรมนั้นเป็นกิจกรรมทางปัญญาของสังคมที่มีวัฒนธรรมในการอ่านและการสร้างวรรณศิลป์   ในประเทศที่มีความมั่นคงทางวิชาการได้พัฒนาการวิจารณ์วรรณกรรมนั้นเป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง   การวิจารณ์วรรณกรรมจึงมีความสำคัญและได้รับการยอมรับอย่างสูงในสังคมที่มีความมั่นคงในวัฒนธรรมทางการอ่านและการวิจารณ์   วรรณคดีวิจารณ์สามารถมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์ได้   การที่เราเสริมความคิดเห็นส่งเสริมวรรณศิลป์ได้   การที่เราส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นส่งเสริมวรรณคดีวิจารณ์นั้น   เราจะต้องยอมรับสมมุติฐานสองข้อ คือ
          1.วรรณกรรมนั้น   เมื่อผู้แต่งได้ตัดสินในที่จะให้เผยแพร่แล้ว   ก็หาได้เป็นสมบัติของผู้แต่งต่อไปไม่   แต่ได้กลายเป็นสมบัติของผู้อ่านไป
          2.ผู้อ่านมีเสรีภาพในการที่จะตีความวรรณกรรม หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมที่ตนอ่าน
          ในส่วนที่เกี่ยวกับสมมุติฐานข้อแรกนั้นไม่ได้พูดถึงสมบัติทางวรรณศิลป์ในแง่ของกฎหมาย   เรื่องของลิขสิทธิ์เป็นเรื่องของการคุ้มครองผลประโยชน์ของงานศิลปะหรืองานประดิษฐ์   เพื่อให้ศิลปินหรือผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ได้รับผลประโยชน์จากงานที่ตนสร้างขึ้นมา   โดยป้องกันมิให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบเพื่อนำไปหาผลประโยชน์   สรุปได้ว่าเป็นเรื่องของทางโลก   ในบางครั้งก็เป็นเรื่องจองผลประโยชน์ทางการเงิน   เรื่องของวรรณกรรมที่แปรสภาพจากสมบัติของผู้แต่งไปเป็นของผู้อ่าน   เป็นเรื่องของการสืบทอดมรดกทาบงวัฒนธรรมซึ่งเป็นปัญหาที่เราจะถกเถียงกันไม่ได้ในแง่ของตัวบทกฎหมาย   จะขอขยายต่อไปด้วยตัวอย่างง่าย ๆ คำพูดที่เราเปล่งออกมาเป็นสิ่งที่หลุดลอยไปจากตัวผู้พูดเรียกคืนกลับมาไม่ได้  แก้ไขไม่ได้   ลบไม่ได้   ผู้ที่เป็นปราชญจึงย่อมจะต้องรับผิดชอบคำพูดของตน   วรรณกรรมก็อยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน   หากว่าการเขียนนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ดีกว่าการพูด   เพราะผู้เขียนมีเวลาไตร่ตรองขัดเกลาสิ่งที่ตนต้องการจะแสดงออกด้วยวาทะ   เขียนแล้วลบได้ถ้าไม่ถูกใจ   เขียนแล้วฉีกทิ้งได้ถ้าไม่พอใจ   ถ้าเขียนแล้วยอมนำออกเผยแพร่นั้นจะเป็นไปในรูปใดก็ได้   ในยุคก่อนที่จะมีการพิมพ์หนังสือ   ก็อาจจะมีการอ่านสู่กันฟังหรือเล่าสู่กันฟัง หรือไม่ก็คัดลายมือ   ผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องคติชาวบ้านและผู้ที่สนใจวรรณคดีโบราณย่อมจะเข้าใจดีว่า   ต้นเรื่องเพียงหนึ่งเรื่องอาจจะแตกเถาเหล่ากอไปได้เป็นสิบเป็นร้อย    เล่าต่อกันไปเป็นร้อยเป็นพันปีจนไม่มีใครรู้ว่าต้นเรื่องที่แท้จริงเป็นอย่างไร   เราจึงจะต้องตั้งคำถามอยู่เสมอว่าวรรณกรรมเป็นสมบัติของใครกันแน่
          สำหรับสมมุติฐานข้อที่2 ที่เกี่ยวกับเสรีภาพของผู้อ่านนั้น   เป็นเรื่องของเสรีภาพทางปัญญา   วรรณกรรมเป็นสิ่งที่มากระทบอารมณ์เราทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ   อารมณ์เป็นอารมณ์ของปัจเจกบุคคล   วรรณกรรมเรื่องเดียวไปถึงมือผู้อ่านร้อยคนก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสมบัติของคนร้อยคนไป   แต่ละคนก็เข้าครอบครองสมบัติทางวรรณศิลป์ชิ้นนี้ด้วยวิธีการของตนเอง   ผู้ประพันธ์จะหวงแหงว่าเป็นสิทธิของตนต่อไปอีกไม่ได้   แม้ผู้อ่านบางคนอาจจะตีความไม่ตรงกับที่ผู้แต่งคิดไว้ก็เป็นกติกาอย่างหนึ่งของวรรณศิลป์ว่ามิใช่หน้าที่ของผู้แต่งที่จะต้องเข้าไปแก้ความเข้าใจผิดเหล่านั้น   แต่เป็นหน้าที่ของผู้อ่านและของนักวิจารณ์ที่จะต้องแก้กันเองในวงผู้อ่าน   เครื่องมือสื่อสารอันได้แก่ ภาษา  เป็นเครื่องมือที่อาจจะไม่สมบูรณ์นัก   คำคำเดียวกับที่มาจากภาษาเดียวกันอาจจะสื่อความหมายไปได้หลายนัย   การสื่อสารทางวรรณศิลป์จึงเป็นการสื่อสารที่ได้ความหมายใกล้เคียงเท่านั้น   ในระยะหลัง ๆ นี้มีนักเขียนบางคนกระโดดลงมาตอบโต้กับนักวิจารณ์   ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำเพราะวรรณกรรมที่สร้างขึ้นและได้ตีพิมพ์ไปแล้วก็นับได้ว่ากลายเป็นสมบัติของผู้อ่านไปแล้ว
การวิจารณ์วรรณกรรมไทยในอดีตเกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อม ๆ กับการสร้างและการเสพวรรณคดีเช่นเดียวกับการสร้างและเสพวรรณคดีในสังคมต่าง ๆ ที่มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมทั้งในรูปมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์   ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงวัฒนธรรมในการสร้างและเสพวรรณคดีตามที่ได้กล่าวมาแล้วจึงอาจสรุปให้เห็นถึงลักษณะของการวิจารณ์วรรณกรรมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มดังนี้
          การวิจารณ์วรรณกรรมในระดับชาวบ้านมีทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์และวรรณกรรมมุขปาฐะ   ผู้สร้างและผู้เสพวรรณกรรมในระดับชาวบ้านมีทั้งในแวดวงของชาวบ้านและชาววัด   อาจกล่าวได้ว่าผู้รับสารในระดับชาวบ้านนั้นมีส่วนในการสร้างสรรค์วรรณกรรมด้วยในกระบวนการสืบทอดวรรณกรรมนั้นอาจมีการดัดแปลงหรือว่าเติมแต่งในส่วนที่ตนเห็นว่ายังไม่ถูกใจ   ถือเป็นการวิจารณ์แบบชาวบ้านเพียงแต่ผู้แต่งอาจไม่มีโอกาสรู้เห็นเท่านั้น   ลักษณะการประเมินค่าวรรณกรรมโดยชาวบ้านยังครอบคลุมไปถึงวรรณกรรมลายลักษณ์ด้วยเช่นกัน   ความนิยมในการเสพวรรณกรรมของมหาชนนั้นเป็นพฤติกรรมในการประเมินค่าวรรณกรรมได้อย่างหนึ่ง   เป็นกระบวนการสื่อสารทางวรรณกรรมที่ครบวงจร คือจากมุมมองผู้แต่ง ผู้อ่าน และผู้วิจารณ์
          การวิจารณ์ในระดับผู้แต่งหรือกวีด้วยกันเอง   หรืออาจเรียกว่าเป็นการวิจารณ์ในลักษณะอัตวิพากษ์ก็ได้   เป็นการแสดงความเห็นต่องานประพันธ์ในลักษณะที่กวีประเมินค่าผลงานของตัวเอง   ซึ่งปรากฏในหมู่ผู้แต่งในระดับชาววังหรือในแวดวงราชสำนัก   ยุคเริ่มต้นของการวิจารณ์วรรณกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษร   การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเขียนอันเนื่องมาจากการรับอิทธิพลวรรณกรรมตะวันตก   ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการสร้างสรรค์วรรณกรรมในระยะนี้คือการนำรูปแบบของงานเขียนจากตะวันตกเข้ามาเผยแพร่   ได้แก่   เรื่องสั้น   นวนิยายและบทละครพูด   หรือที่เรียกกันในช่วงเวลานั้นว่าเรื่องอ่านเล่น   การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเขียนที่เป็นไปอย่างคึกคักนี้เอง   มีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นให้มีการแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์ต่อวรรณกรรมในรูปแบบใหม่   ในระยะแรก ๆ นั้นการแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์ยังอยู่ในลักษณะของการตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อวงการประพันธ์ไปมากกว่าตั้งใจให้เป็นบทวิจารณ์ที่แท้จริง   แต่เริ่มปรากฏเป็นการวิจารณ์อย่างชัดเจน   จนเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 7 ดังเช่นบทความที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมประโลมโลก และเรื่องอ่านเล่น   โดย ส่ง  เทภาสิต   กับบทวิจารณ์นวนิยายเรื่องละคนแห่งชีวิต   โดยองค์เจ้าจุลจักรพงศ์   ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเปิดฉากการวิจารณ์วรรณกรรมสมัยใหม่อย่างเป็นกิจจะลักษณะและเป็นบทวิจารณ์วรรณกรรมที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
จะเห็นได้ว่าแต่ละยุคของการวิจารณ์วรรณคดีมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการคิดค้นการศึกษาศาสตร์แห่งวรรณคดีมากขึ้น   ก็จะทำให้พบกับแนวทางในการวิจารณ์วรรณคดีที่หลากหลาย   การวิจารณ์วรรณคดีในแต่ละยุคทำให้กรอบแนวคิดในการวิจารณ์   ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะศึกษาและเข้าใจตัวบทได้มากขึ้น   แต่ละยุคแต่ละทฤษฎีมีทั้งความเหมือนและความต่างกัน   แต่ทุกยุคทุกสมัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกันเสมอ   ทุกศาสตร์ที่เกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณคดีทั้งนั้น   เช่น   ศาสตร์ทางด้านสังคมที่มีการนำมาใช้ในการศึกษาวรรณคดี   ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาที่นำมาใช้ในการศึกษาผู้เขียน   วรรณคดีทำตัวศาสตร์ต่าง ๆ นั้นมารวมตัวกันเพื่อใช้ในการวิจารณ์วรรณคดีออกมา   เราสามารถนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในงานได้   การเลือกทฤษฎีให้เหมาะสมกับตัวบทที่เราใช้   ทฤษฎีต่าง ๆ มีทั้งการศึกษาทั้งภายนอกและภายในของตัววรรณคดี   การที่เราเลือกนำมาประยุกต์ใช้ทำให้เรามองอย่างเป็นระบบและรอบครอบ   เพราะสามารถศึกษาได้ทั้งภายนอกและภายในทำให้เราสามารถวิเคราะห์วรรณคดีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   เมื่อก่อนรับอิทธิพลตะวันตกนั้นรูปแบบที่ใช้คือประเภทร้อยกรอง  มีการต่อต้านรูปแบบการเขียนของตะวันตก   วรรณกรรมไทยสมัยก่อนรับอิทธิพลตะวันตกนั้นมีการหวนกลับไปใช้เหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา   แต่เมื่อถึงช่วงรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามาวรรณกรรมไทยก็เปลี่ยนไป   จากเมื่อก่อนการวิจารณ์ยังไม่เป็นรูปธรรมยังไม่เป็นกรอบทางการที่นำมาใช้ในการวิจารณ์   เมื่อถึงช่วงตะวันตกวรรณกรรมไทยเกิดความคึกคักขึ้นอีกครั้ง   มีนักวิจารณ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นและยังมีกรอบมีแนวทางในการวิจารณ์ที่เป็นสากลเป็นรูปธรรมมากขึ้น   เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมก็เปลี่ยนไป   นักเขียนมีความคิดที่หลากหลายในการเขียนหนังสือที่ซับซ้อนมากขึ้น   การวิจารณ์จึงไม่มีความตายตัว   แนวคิดต่าง ๆ ที่นักวิจารณ์นำเข้ามานั้นก็คือ กรอบแนวคิดในการใช้วิจารณ์วรรณกรรมเท่านั้น   ทำให้เกิดแนวคิดที่หลากหลายที่หมุนไปตามสังคมที่ไม่มีความหยุดนิ่ง   ทำให้ได้เห็นทฤษฎีในการวิจารณ์วรรณกรรมนั้นก้าวหน้าไปเสมอ
          การวิจารณ์วรรณกรรมนั้นสำคัญเพราะเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ต้องการให้นำมาศึกษาให้ได้มากที่สุด   เพราะการวิจารณ์วรรณกรรมนั้นทำให้ได้เห็นความคิดที่แปลกแยกแตกต่างจากความคิดเดิม ๆ ที่คนส่วนใหญ่คิดกัน เรื่องเดียวกันนั้นอาจจะตีความกันไม่ได้เหมือนกันหมดทุกคน   ทำให้การวิจารณ์เป็นการที่เราได้มองวรรณกรรมอีกมุมหนึ่งได้รับภาพใหม่ มุมใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเราอาจจะมองข้ามไปได้ หรือสิ่งนั้นอาจจะเป็นมุมที่คุณไม่เคยได้มองมันเลยก็ได้  ในเมื่อคนเรานั้นต่างมองมุมที่ไม่เหมือนกัน เราก็ควรจะมาวิจารณ์เพื่อเป็นศิลปะในทางความคิด เป็นอิสระจากความคิดมากขึ้น โดยไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ดิฉันคิดว่าการวิจารณ์วรรณกรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้ตัวบทสำคัญมากขึ้นไปอีก   เพราะเป็นการรวมกันหลาย ๆ ความคิดเพื่อใช้ในการวิจารณ์ในงานแต่ละครั้ง  และงานวิจารณ์มักมีบางอย่างแตกต่างไปจากเดิมเสมอ


 อ้างอิง
          เจตนา นาควัชระ.2521.ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี.กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ดวงกลม จำกัด
ธัญญา   สังขพันธานนท์.2539.วรรณกรรมวิจารณ์.กรุงเพทฯ : นาคร