วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การวิจารณ์วรรณกรรมแต่ละยุคของตะวันตก

การวิจารณ์วรรณกรรมแต่ละยุคของตะวันตก
          ความหมายของคำว่า วรรณกรรมวิจารณ์   เป็นการพิจารณาคุณค่าของหนังสือหรือบทประพันธ์โดยชี้ให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับงานประพันธ์   เพื่อที่จะประเมินค่า หรือ ชี้ให้เห็นข้อเด่นข้อด้อยว่าเป็นอย่างไร หรือเพราะเหตุใด   นอกจากนี้แล้วการวิจารณ์ก็มีลักษณะที่เป็นกระบวนการและมีขั้นตอนที่ค่อนข้างแน่นอน   มีองค์ประกอบ คือ การวิเคราะห์หารายละเอียดของวรรณกรรม   เช่น   การวิเคราะห์องค์ประกอบ   การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ การอธิบายให้ความกระจ่างในสิ่งที่ได้วิเคราะห์   เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้จากตัวบทวรรณกรรม   การตีความจะช่วยให้เกิดความกระจ่างในวรรณกรรมได้มากขึ้น   การประเมินค่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการวิจารณ์วรรณกรรมและเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะลงความเห็นว่า   วรรณกรรมเรื่องนั้นมีความเด่นด้อยอย่างไร
          วรรณกรรมวิจารณ์ตะวันตกเริ่มขึ้นที่กรีกแห่งแรกและได้รับการสืบทอดต่อมาในสมัยโรมัน   การวิจารณ์วรรณกรรมในระยะนี้เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นการวางรากฐานในวรรณกรรมวิจารณ์ของตะวันตก   ในระยะต่อมาหรืออาจกล่าวได้ว่าชนชาติกรีกเป็นผู้วางพื้นฐานวรรณคดีวิจารณ์แก่ชาวโลก   รวมทั้งเน้นให้เห็นคุณค่าความสำคัญของศิลปะวรรณคดีในฐานะที่เป็นเบ้าหลอมหรือสิ่งที่ช่วยพัฒนาอารมณ์และความเชื่อของมนุษย์   การวิจารณ์วรรณกรรมสมัยกรีกดำเนินไปภายใต้ความเชื่อที่ว่า   วรรณคดีเป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดการเลียนแบบความจริงจากธรรมชาติ
          สมัยกลางเป็นระยะที่ความเจริญทางด้านศิลปะวิทยาการในตะวันตกหยุดชะงักอยู่กับที่    เพราะชาวยุโรปส่วนใหญ่มีความคลั่งไคล้ในศาสนาคริสต์   จนขาดความกระตือรือร้นที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จนเรียกระยะนี้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นยุคมืดเช่นเดียวกับวิทยาการแขนงอื่น ๆ การวิจารณ์วรรณกรรมในระยะนี้แทบจะไม่มีการสร้างระเบียบวิธีหรือแนวคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้น   แต่ยังคงหลักการวิจารณ์ตามแบบกรีกและโรมัน   โดยเฉพาะอิทธิพลทางทฤษฎีของฮอเรซ   การวิจารณ์วรรณกรรมยังคงให้ความสำคัญต่อรูปแบบ   ลีลาการแต่ง   กฎเกณฑ์ในการแต่งคำประพันธ์   การวิจารณ์วรรณกรรมในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการจึงยังคงยึดมั่นในหลักเกณฑ์อันเคร่งครัดและการหวนกลับไปสู่อุดมคติของวรรณคดีคลาสสิกนั้นคือ   มีการนำเอาหลักการและมาตรฐานของวรรณคดีกรีกและโรมันมาเป็นแบบฉบับในการประเมินค่าวรรณคดี   และถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับวรรณคดีกรีกและโรมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง   แต่กฎเกณฑ์อื่น ๆ เป็นสิ่งที่ผิด   แนวคิดเกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณกรรมในยุคโรแมนติค   คือ การให้ความสำคัญต่อจินตนาการและอารมณ์ในบทประพันธ์เทียบเท่ากับความเป็นเหตุเป็นผลในการเข้าถึงความเป็นจริง   นักวิจารณ์ในยุคโรแมนติคสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการแสดงออก   ความคิดริเริ่มและความเป็นอัจฉริยะในบทประพันธ์รวมถึงการให้ความสำคัญของเนื้อหาวรรณคดีที่เสนอสาระเกี่ยวกับมนุษย์ในภาวะธรรมชาติ
         

ศตวรรษที่ 19 เป็นระยะที่ความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ขยายตัวอย่างมาก   วรรณกรรมวิจารณ์ก็มีความก้าวหน้าในทางทฤษฎีด้วยการนำความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์วรรณกรรม   วรรณกรรมวิจารณ์ในศตวรรษที่ 19 ดำเนินไปภายใต้กระแสต่อต้านวรรณกรรมตามแนวลัทธิโรแมนติค   ซึ่งมีกระแสในการวิจารณ์ออกเป็นสองกระแสหลักคือ การวิจารณ์ตามแนวลัทธิสัจนิยม และ ธรรมชาตินิยม
ทฤษฎีหรือแนววิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพัฒนาการทางความคิดของนักวิจารณ์ในตะวันตกที่พยายามแสวงหาหลักเกณฑ์จนกำหนดขึ้นเป็นแนวทางต่าง ๆ ได้   แนวการวิจารณ์ที่แพร่หลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นระยะที่นักวิจารณ์รุ่นใหม่กำลังมีบทบาทในการวิจารณ์เป็นอย่างมาก   ในศตวรรษที่ 20 การวิจารณ์วรรณคดีตามแนวศิลปะได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักวิจารณ์ในกลุ่มมนุษย์นิยมใหม่   นักวิจารณ์กลุ่มนี้เชื่อว่าวรรณคดีคือการวิจารณ์ชีวิต   หน้าที่หลักของวรรณคดีคือ   การสอนคติธรรมทั้งในเชิงศาสนาและเชิงปรัชญา   กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ   วรรณคดีมีหน้าที่มุ่งสอนและให้ข้อคิดในการประพฤติตนในการดำรงชีวิต   สอนให้คนทำความดีและสอนเรื่องความจริงในชีวิต
การวิจารณ์วรรณคดีตามแนวประวัติศาสตร์และชีวประวัติ   เป็นแนวการวิจารณ์ดั้งเดิมที่มีอิทธิพลอย่างมากก่อนต้นศตวรรษที่ 20 ลักษณะเด่นของการวิจารณ์แบบดั้งเดิมคือ   นักวิจารณ์ที่ศึกษาวรรณคดีในแนวนี้เชื่อว่า   งานศิลปะเป็นเพียงผลผลิตหรือสิ่งที่ถ่ายทอดบุคลิกภาพและชีวประวัติ  สภาพสังคม   แนวคิดหรือปรัชญาของผู้แต่งหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่สืบทอดลักษณะวิชาการแขนงอื่น ๆ ในการวิเคราะห์วิจารณ์วรรณคดี   ผู้วิจารณ์จึงให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบภายนอก
การวิจารณ์ตามแนวทฤษฎีมาร์กซิสต์   เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการวิจารณ์ในแนวสัจนิยมในศตวรรษที่ 19   ซึ่งมีความเคลื่อนไหวอย่างมากในการศึกษาวรรณคดีกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม   การศึกษาวรรณคดีในเชิงจิตวิทยาเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรีก   เช่น   การให้ความสนใจเกี่ยวกับความคลุ้มคลั่งของนักประพันธ์   การวิจารณ์ตามแนวตำนานเป็นการวิจารณ์วรรณกรรมอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในศตวรรษที่ 20 ลักษณะของการวิจารณ์ตามแนวนี้มีความคล้ายคลึงกับการวิจารณ์แนวอื่น ๆ หลายแนว   เหมือนกับการวิจารณ์ตามแนวรูปแบบนิยมในแง่ที่เรียกร้องให้มีการศึกษาตัวงานที่จะวิจารณ์อย่างละเอียด   เหมือนกับการวิจารณ์แนวจิตวิทยาตรงที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างงานศิลปะวรรณคดีกับผู้อ่าน  มีส่วนคลายคลึงกับการวิจารณ์แนวสังคมวิทยาในแง่ของการศึกษา  และพิจารณาพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบบทางวัฒนธรรม  และยังเหมือนกับการวิจารณ์แนวประวัติศาสตร์   เพราะมีการตรวจสอบสังคมหรือวัฒนธรรมในอดีต   แต่ต่างกันตรงที่การวิจารณ์แนวตำนาน   แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงในคุณค่าของวรรณคดีไม่จำกัดเฉพาะเพียงเวลาในอดีตช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น
การวิจารณ์แนวสุนทรียศาสตร์เป็นแนวการวิจารณ์ที่ได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์ชาวอังกฤษและอเมริกัน   โดยให้สนใจวิเคราะห์ตัวบทมากกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ หรือ สิ่งแวดล้อมทางสังคมในวรรณคดี   เพราะว่าเป็นองค์ประกอบที่ไม่สำคัญเมื่อเทียบกับความงามทางศิลปะ   การวิจารณ์แนวรูปแบบนิยมของรัสเซีย   เป็นแนวการวิจารณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศรัสเซียในตอนต้นศตวรรษที่ 20 โดยพื้นฐานมาจากอิทธิพลของนักวิจารณ์ในศตวรรษที่ 19 และจากกลุ่มกวีสัญลักษ์นิยมของรัสเซีย   เป็นการศึกษาและวิจารณ์วรรณคดีโดยเน้นไปที่ตัวบทเช่นเดียวกับการวิจารณ์ตามแนวสุนทรียศาสตร์ด้วยการนำความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์มาวิเคราะห์โครงเสร้างของภาษา   การวิจารณ์ตามแนวโครงสร้างนิยมของฝรั่งเศสเกิดขึ้นในทศวรรษ 1950 เป็นแนวการวิจารณ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มที่อาศัยภาษาศาสตร์สมัยใหม่เป็นแม่แบบในการวิจารณ์เช่นเดียวกับการวิจารณ์แนวรูปแบบนิยมและสุนทรียศาสตร์
จะเห็นได้ว่าแต่ละยุคของการวิจารณ์วรรณคดีมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการคิดค้นการศึกษาศาสตร์แห่งวรรณคดีมากขึ้น   ก็จะทำให้พบกับแนวทางในการวิจารณ์วรรณคดีที่หลากหลาย   การวิจารณ์วรรณคดีในแต่ละยุคทำให้กรอบแนวคิดในการวิจารณ์   ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะศึกษาและเข้าใจตัวบทได้มากขึ้น   แต่ละยุคแต่ละทฤษฎีมีทั้งความเหมือนและความต่างกัน   แต่ทุกยุคทุกสมัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกันเสมอ   ทุกศาสตร์ที่เกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณคดีทั้งนั้น   เช่น   ศาสตร์ทางด้านสังคมที่มีการนำมาใช้ในการศึกษาวรรณคดี   ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาที่นำมาใช้ในการศึกษาผู้เขียน   วรรณคดีทำตัวศาสตร์ต่าง ๆ นั้นมารวมตัวกันเพื่อใช้ในการวิจารณ์วรรณคดีออกมา   เราสามารถนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในงานได้   การเลือกทฤษฎีให้เหมาะสมกับตัวบทที่เราใช้   ทฤษฎีต่าง ๆ มีทั้งการศึกษาทั้งภายนอกและภายในของตัววรรณคดี   การที่เราเลือกนำมาประยุกต์ใช้ทำให้เรามองอย่างเป็นระบบและรอบครอบ   เพราะสามารถศึกษาได้ทั้งภายนอกและภายในทำให้เราสามารถวิเคราะห์วรรณคดีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดิฉันเห็นด้วยกับการวิจารณ์วรรณคดีที่มีศาสตร์ที่หลากหลายในการเลือกมาใช้ในการวิจารณ์และนักเขียนนั้นผลงานไม่มีความตายตัวนักวิจารณ์จึงต้องมีการศึกษาค้นคว้าทฤษฎีใหม่ ๆ  ได้เสมอ   ทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับภายในและภายนอกของตัวบท   เมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปแต่ละช่วงแต่ละสมัย   ย่อมส่งผลทำให้ความคิดและองค์ประกอบอื่น ๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปด้วยเสมอ   นักคิดนักเขียนก็ต่างมีพัฒนาการที่มากขึ้น   และเมื่อมีการพัฒนากันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนก็ยิ่งทำให้การวิจารณ์นั้นสำคัญมากขึ้นไปอีก   เพราะต้องมีการศึกษาวิจารณ์แนวคิดของนักเขียนที่มีต่องานต่อสังคมต่อโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป  ผู้วิจารณ์ก็เปรียบเสมือนผู้ตีความให้กระจ่างในวรรณกรรมที่มักจะมีความคลุมเครือในงานเขียนนั้นเสมอ   เพื่อนำมาประเมินค่าในตัวงานของวรรณกรรม