วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ความโศกแห่งการพลัดพรากที่แฝงไปด้วยความรักที่ซ้อนอยู่ในเรื่องยุขันตอนที่สอง

ความโศกแห่งการพลัดพรากที่แฝงไปด้วยความรักที่ซ้อนอยู่ในเรื่องยุขันตอนที่สอง
          เรื่องยุขันตอนที่สองนั้น  รสที่เด่นที่สุดในตอนนี้ก็คือกรุณารสรสแห่งความโศกเศร้าความสงสาร   เหตุที่ผู้วิจารณ์กล่าวว่าตอนที่สองนั้นมีรสแห่งกรุณารสมากที่สุดก็คือ ตัวละครของเรื่องมีการพลัดพรากจากกันเป็นระยะ ๆ ในเรื่องนี้ เริ่มแรกของเรื่องนั้นเกิดจากยุขันนั้นมีดวงสมพงกับนางประวะลิ่ม ซึ่งอยู่เมืองอุเรเซนระยะทางของทั้งสองเมืองนั้นห่างไกลกันมาก เทพปะตาระกาหลาก็ได้เขียนตำราใส่ไว้ในสมุดเกี่ยวกับนกหัสรังสีเพื่อหาทางให้ทั้งสองได้พบกัน เมื่อเขียนเสร็จได้นำไปไว้วางไว้ข้าง ๆ แท่นสุวรรณรัตน์ของท้าวอุรังยิด เมื่อท้าวอุรังยิดพระบิดาของยุขันได้หยิบขึ้นมาอ่านก็เกิดอยากได้นกหัสรังสีมาครอบครอง เหตุนี้จึงทำให้ยุขันและยุดาหวันนั้นจะเดินทางไปหานกหัสรังสีซึ่งทำตามพระประสงค์ของบิดา นกหัสรังสีนั้นอยู่ที่เมืองอุเรเซน ก่อนออกเดินทางไปตามหานกที่เมืองอุเรเซนทั้งสองได้ไปบอกลาพระมารดาที่ปราสาท เพื่อจะลาจากไปตามหานกหัสรังสีตามพระประสงค์ของบิดาเป็นเวลาสามปีจึงจะกลับมาที่เมือง  ตอนนี้ทำให้เห็นถึงการพลัดพรากเป็นฉากแรก ที่พระลูกยาทั้งสองนั้นต้องจากเมืองไปไกล  จากไปจากอ้อมอกของพระมารดา ทำให้พระมารดานั้นเกิดความเศร้าใจยิ่งนักที่ต้องแยกจากกับลูก ผู้วิจารณ์เลยรู้สึกว่าตอนนี้เป็นการเริ่มต้นบทแห่งความเศร้าที่ผู้วิจารณ์รับรู้ได้จากบทบรรยายความรู้สึกของพระมารดาที่ผู้ประพันธ์นั้นเขียนขึ้น เหตุที่สองที่ทำให้ผู้วิจารณ์เกิดกรุณารสอีกก็คือ ฉากที่ยุขันกับยุดาหวันนั้นต้องจากกันไปคนละทาง  เพราะว่าได้มีอักษรเขียนติดไว้บนหลักว่า เมื่อเดินมาถึงทางนี้แล้วให้แยกกันเดินไปคนละทางจะทำให้เจอพระฤๅษีฝึกวิชาอาคมได้  แต่ถ้าเกิดเดินไปด้วยกันจะทำให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องตาย ทำให้เห็นบทอาลัยอาวรณ์ของพี่น้องที่มีความรักกันและพร้อมจะร่วมเป็นร่วมตายไปด้วยกัน  แต่แล้วก็ต้องแยกจากกันเพราะต่างต้องไปพบกับชะตากรรมของตัวเองในเบื้องหน้าโดยที่ไม่รู้ว่าจะต้องพบเจอกับเหตุการณ์อะไรบ้าง    และฉากสุดท้ายที่สื่อถึงรสแห่งความเศร้าได้มากที่สุดของตอนนี้ก็คือ  การจากไปของท้าวจะรังหงูบูหราเจ้าเมืองจะรังหงูบูหราที่ได้สวรรคต   การจากไปของท้าวจะรังหงูบูหรานั้นทำให้เกิดความโศกเศร้าครั้งใหญ่ขึ้นทั้งเมืองจะรังหงูบูหรา เพราะเป็นการจากไปโดยไม่มีวันได้กลับมาอีก   ทั้งสามฉากที่ผู้วิจารณ์ยกมานั้นซึ่งผู้ประพันธ์ดำเนินเรื่องวางไว้เป็นระยะ ๆ จึงทำให้ผู้วิจารณ์เกิดความรู้สึกกรุณารสตลอดทั้งตอนนี้เป็นส่วนใหญ่  ผู้วิจารณ์จึงกล่าวได้ว่าตอนที่สองของเรื่องยุขันนั้น รสที่ผู้วิจารณ์ได้รับมากที่สุดนั้นคือ กรุณารส ซึ่งจะอธิบายอย่างละเอียดดังต่อไปนี้          ฉากแรกที่ผู้วิจารณ์กล่าวถึงนั้นคือ ฉากที่ยุขันและยุดาหลังได้มาปราสาทของพระมารดาเพื่อมาบอกกล่าวเรื่องที่จะออกเดินทางไปตามหานกหัสรังสี   เมื่อทั้งสองได้บอกพระมารดาแล้ว  พระมารดาก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ที่ลูกทั้งสองนั้นจะเดินทางกันไกล นานถึงสามปี นางจึงรู้สึกเศร้าเสียใจอย่างยิ่งกับการเดินทางของทั้งสองพระองค์เพราะไม่เคยจากกันไปไกลถึงขนาดนี้   เหมือนชีวิตของนางนั้นกำลังจะตายจากไปเพราะลูกรักทั้งสองต้องไปเผชิญกับอันตรายต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกที่รักลูกหวนแหนลูก ไม่อยากให้ลูกนั้นต้องมารำบากหรือต้องไปเจอกับเหตุการณ์อันตราย   โดยที่ไม่สามารถทราบเลยได้ว่าลูกนั้นต้องเดินทางไปพบเจอกับอะไรบ้างดังบทกลอนนี้
   เมื่อนั้น               โฉมยงองค์ประไหมสุหรีได้ฟังลูกยาพาที                      ปิ่มประหนึ่งชีวีจะบรรลัยยอกรกอดสองโอรสราช             สุดสวาดิพ่อคิดเป็นไฉยเจ้าจึงอาจองทะนงใจ               รับอาสาไปทั้งสองราปักษีอยู่ถึงอุเรเซน                   แม่เห็นจะไม่สมปรารถนาจะพากันดั้นด้นอรัญวา              รู้ว่าหนทางนั้นอย่างไรอยู่ใกล้ฤๅไกลไม่แจ้งเหตุ             จะทุเรศไปจากกรุงใหญ่พระชนนีเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ        ไห้อาลัยถึงลูกยาจะมีแต่อาดรูพูนโศก                 แสนวิโยคถึงลูกเสนหาว่าพลางนางร่ำโศกา                 กัลยาไม่เป็นสมประดี                   ฯ   โอด 10  คำ ฯ
          จะเห็นได้ว่านางนั้นเศร้าเสียใจเป็นอย่างมากทำให้ผู้วิจารณ์นั้นได้เกิดความสงสารนางที่ต้องจากกับลูก  นอกจากจะรู้สึกสงสารแล้ว ความรู้สึกที่ตามติดมาทันทีนั้นก็คือความรักของแม่ที่มีให้กับลูก   ซึ่งเป็นรักที่ยิ่งใหญ่มาก  รักที่พระมารดามอบให้ลูกนั้นประหนึ่งว่าโลกทั้งใบของนางนั้นยกมันให้ลูกของนางเท่านั้น  ความรู้สึกของนางทำให้ผู้วิจารณ์นั้นยิ่งสงสารและเห็นใจนาง  ได้เห็นถึงความรักความอาลัยอาวรณ์ที่พระมารดามีต่อลูก ความเป็นห่วงลูกและความสงสารลูกที่ต้องเดินทางกันไปไกลบ้านไกลเมือง   เพราะนางก็ไม่สามารถทราบเลยได้ว่าหนทางข้างหน้าที่ลูกทั้งสองของนางต้องพบเจออุปสรรคอะไรในการเดินทางครั้งนี้บ้าง          ฉากที่สองที่ผู้วิจารณ์เห็นถึงการพลัดพรากที่เศร้าสร้อยอีกเหตุการณ์ก็คือ การที่ทั้งสองพี่น้องต้องแยกกันเดินไปคนละทางเพื่อไปพบกับชะตากรรมของตนเองเพียงลำพัง ดังบทกลอนนี้          “   เมื่อนั้น               ยุขันโศกเศร้าหมองศรีได้ฟังพี่ยาพาที                       ภูมีวิโยคจาบัลย์เวราสิ่งใดมาจำจาก                 แสนวิบากที่กลางไพรสัณฑ์พี่น้องเราเคยเห็นหน้ากัน            วันนี้จะพรากพรัดไปสองพระองค์ทรงโทรมนัสศัลย์      ดั่งชีวันจะม้วยตักษัยแสนเทวษโศกาลัย                   มิได้จะนิราศคลาดคลาแล้วระงับดับความโศกี               สองศรีตริตรึกปรึกษาจวนจะสิ้นแสงพระสุริยา            จำเป็นจำเราจะคลาไคลยุขันยอกรอภิวาท                   พระเชษฐาธิราชเป็นใหญ่มิใคร่จะจากจร                      แข็งใจดำเนินเดินมาต่างแยกมรคาพนาสัณฑ์             พ่างเพียงชีวินจะสังขาร์ให้อาวรณ์ร้อนเร่าให้อุรา            ดังหนึ่งชีวันจะบรรลัย ฯฯ  โอร่าย 12 คำ ฯ
          ฉากนี้ได้ทำให้ผู้วิจารณ์สะเทือนใจอีกตอนหนึ่ง   เนื่องจากสงสารพี่น้องคู่นี้ที่ต้องมาจากกันไป   นอกจากจะเกิดความสงสารแล้ว  ผู้วิจารณ์ยังมีความรู้สึกต่อมาคือความรักของทั้งสองพระองค์  บุขันและยุดาหวันนั้นเป็นพี่น้องที่มีความรัก ความผูกพันกันมาก ทำให้ผู้วิจารณ์นั้นทั้งประทับใจในความรักที่งดงามเช่นนี้แล้ว ยังทำให้เกิดความเศร้า ความสงสารที่ทั้งสองต้องมาเผชิญชะตากรรมอย่างนี้  ความรักย่อมมีความเสียสละ เพราะถ้าทั้งสองเห็นแก่ตัว  แล้วเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้งนั้นก็อาจจะร่วมเดินทางไปทางเดียวกันสองพระองค์ก็ได้   แต่เพราะว่าทั้งสองนั้นรักกันมาก ไม่อยากให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องตายจากกัน เพราะหลักได้บอกไว้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว  เพราะทั้งสองตะหนักถึงเหตุนี้  จึงตัดสินใจที่จะแยกทางกันถึงแม้จะอาลัยอาวรณ์  จะไม่อยากแยกกันไปมากแค่ไหนก็ตาม  แต่การแยกจากกันครั้งนี้ของทั้งสองคนก็ย่อมดีกว่าเดินไปด้วยกันแล้วใครคนใดคนหนึ่งต้องตาย  จากเป็นก็ยังสามารถที่จะกลับมาพบกันใหม่ได้   แต่ถ้าจากตายก็ไม่สามารถทำให้ได้กลับมาพบกันอีก   การจากลาของสองพี่น้องคู่นี้  ผู้วิจารณ์ทั้งสงสารเห็นใจ  แต่ก็รู้สึกซาบซึ้งในความรักที่บริสุทธิ์เช่นนี้          ฉากสุดท้ายที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นฉากที่เศร้าที่สุดในตอนนี้  เพราะเป็นฉากที่ท้าวจะรังหงูบูหรานั้นสวรรคต  ทำให้เห็นถึงความโศกเศร้าเสียใจครั้งใหญ่ในตอนนี้          “๏   เมื่อนั้น               ประไหมสุหรีครวญคร่ำกำสลดทั้งพระบุตรีมียศ                     โศการันทดสลดใจทั้งหมู่แสนสาวพระกำนัล           ก็โศกศัลย์รัญจวนหวนไห้เสนาประชากรทั้งเวียงไชย          มิได้สุขกระเษมเปรมปราฯฯ โอด 4 คำ ฯ
          จะเห็นได้ว่าการจากไปของท้างจะรังหงูบูหงานั้นเป็นการทำให้คนทั้งเมืองนั้นเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง   ทั้งพระมเหสี ทั้งนางกัญจหนา นางกำนัล เสนา และชาวบ้านที่อยู่ในเมืองนั้น   การจากไปครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก  ซึ่งทำให้สะเทือนใจมากกว่าฉากกล่าว ๆ ที่ผู้วิจารณ์ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว   เพราะการจากไปของสองฉากที่ยกมานั้นเป็นการจากเป็น   ซึ่งยังไงก็สามารถกลับมาพบกันใหม่ในเวลาที่ได้บอกกล่าวกันไว้ได้  แต่การจากไปจองท้าวจะรังหงูบูหรานั้นจากไปแบบถาวร  ไม่สามารถที่จะกลับมาพบใครได้อีก  ทำให้ผู้วิจารณ์นั้นเกิดความสงสารทั้งพระมเหสี นางกัญจะหนา และทุกคนในเมืองนี้   ที่รักท้าวจะรังหงูบูหรา    และผู้วิจารณ์ยังเห็นอีกว่าท้าวจะรังหงูบูหรานั้นน่ายกย่องอีกด้วย   เพราะการจากไปของพระองค์นั้นทำให้เห็นถึงความรักที่ยิ่งใหญ่  เพราะสามารถทำให้คนทั้งเมืองนั้นเศร้าโศกได้มากมายถึงเพียงนี้   พระองค์ทรงทำให้ชาวเมืองนั้นอยู่เย็นเป็นสุขมากช้านาน  เพราะความเมตรตาปราณี และทรงเที่ยงธรรมในการปกครอง  จึงทำให้ท้าวจะรังหงูบูหราได้รับความรักที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้จากคนทั้งเมือง          ในตอนที่สองของเรื่องนี้ที่ทำให้ผู้วิจารณ์นั้นเกิดรสกรุณารสได้มากมายขนาดนี้ก็มาจากการที่ทั้งสามฉากนั้นมีรสศฤงคารรสเป็นตัวเชื่อม  ทำให้สามารถเข้าใจความรู้สึกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ทุกตัวละครในเรื่องที่จะสามารถส่งผ่านออกมาจนทำให้ผู้วิจารณ์นั้นสัมผัสได้ถึงความเศร้าโศกเสียใจ ความสงสาร ที่มีอยู่ในเรื่องนี้ได้ ก็เพราะเหตุเกิดจากความรักที่ตัวละครนั้นมีให้แก่กัน   ไม่ว่าจะเป็นความรักของแม่กับลูก  ความรักของพี่กับน้อง  ความรักของลูกที่มีให้พ่อ ความรักของภรรยาที่มีให้กับสามี และความรักของคนทั้งเมืองที่มีต่อเจ้าเมืองของเมืองนั้น   เพราะรสศฤงคารรสนี้ที่แฝงอยู่ในความเศร้าของเรื่อง   จึงทำให้ความเศร้าเด่นขึ้นเพราะสงสารตัวละครที่ต้องมาทุกข์มาเศร้าเสียใจก็เพราะความรักบริสุทธิ์ที่ต่างมีให้กัน   ยิ่งรักกันมากเท่าไหร่   เมื่อต้องมีเหตุให้จากกันไป ทั้งการจากลาที่มีลมหายใจ  แต่ต้องใช้เวลานานในการรอคอย หรือจากแบบหมดลมหายใจ  จากโดยที่สิ้นสุดการรอคอย  ไม่ว่าจะจากกันแบบไหนก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้เช่นกัน  ผู้วิจารณ์นั้นไม่สามารถทราบได้เลยว่า การจากไปของทั้งสองอย่างนี้อะไรที่เศร้าเสียใจกว่ากัน เพราะการจากเป็นก็เป็นการรอคอยอย่างมีความหวังและคิดถึงทุกวันไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะได้พบกัน  การรอคอยก็คงมีความทรมานมาก ๆ เช่นกัน แต่ถ้าการจากตาย  ก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการรอคอย แต่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะทำใจได้ว่าคนที่จากไปนั้นไม่สามารถเจอกันได้อีกแล้ว          และในตอนนี้มีอีกรสหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้  เพราะรสนี้สามารถทำให้ความเศร้านั้นเบาบางลงไปได้บ้าง เพราะรสที่จะกล่าวนี้คือวีรรส  รสแห่งความกล้าหาญ  เพราะเมื่อเราสามารถรับรู้ความกล้าหาญของตัวละครในเรื่องนั้น ก็ทำให้รสแห่งความเศร้าลดลงเพราะตัวละครนั้นต่างทำไปตามหน้าที่ของตน  เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะทำสิ่งนั้นให้ได้   จึงทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นว่าตัวละครนั้นต้องทำสำเร็จแล้วกลับมาได้อย่างแน่นอนไม่ว่าจะพบกับอุปสรรคแบบไหนก็ตาม ถึงแม้อาจจะต้องตาย  แต่ผู้วิจารณ์ก็รู้สึกได้ว่าจะเป็นการจากไปที่น่ายกย่องเชิดชูสมศักดิ์ศรีของการเป็นลูกเจ้าเมือง และแน่นอนว่าการจากไปในรูปแบบนี้จะทำให้คนสรรเสริญเชิดชูในความกล้าหาญของตัวละครมากยิ่งขึ้น   เช่นฉากนี้ผู้วิจารณ์ขอยกฉากที่ทำให้เห็นความกล้าหาญที่ชัดเจนของลูกเจ้าเมือง           ๏   เมื่อนั้น     พระโฉมยงองค์ยุขันศรีใสเห็นเสนาดาดาษไม่อาจใจ ภูวไนยถวิลจินดากูจะรับพระราชโองการ   พระภูบาลพิภพนาถาจึ่งจะได้ไปยังพนาวา       เที่ยวหาปักษาดั่งใจจงทั้งจะได้พบองค์พระสิทธา ร่ำเรียนวิชาดั่งประสงค์เกิดในเชื้อกระษัตริย์เอกองค์        ให้ทรงศิลปะศาสตร์เชี่ยวชาญคิดแล้วถวายอภิวาท                 พระบิตุรงค์ธิราชรังสรรค์ลูกจะขออาสาพระทรงธรรม์        ไปยังอุเรเซนธานีเที่ยวหาหัสรังดั่งจินดา              เกลือกว่าจะพบพระฤๅษีจะได้เรียนพระเวทฤทธี             สามปีลูกนี้จะกลับมา ฯฯ  10 คำ ฯ
          ยุขันนั้นมีจิตใจที่กล้าหาญเมื่อต่อมาต้องเจอฉากเศร้า ๆ ในบทอื่น ๆ ต่อมา แต่เมื่อนึกถึงความกล้าหาญที่มุ่งมั่นในการตัดสินใจของยุขันในครั้งนี้ก็ทำให้ผู้วิจารณ์นั้นคลายเศร้าไปได้บ้าง   เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจของยุขันที่เอาจริงเอาจัง  กล้าไปเผชิญอย่างหน้าอย่างกล้าหาญ และยังมีความประสงค์ที่แน่วแน่มั่นคงต่อให้ต้องพลัดพรากกับตัวละครอื่นอีกกี่หนนั้น ต่อให้ต้องเสียใจในการจากลาใครต่อใครอีกมากมาย   หรือต้องพบกับเรื่องที่เลวร้ายมากแค่ไหน ยุขันก็ไม่ลดละความตั้งใจเดิมของตนที่จะไปหานกหัสรังสีมาให้พระบิดาให้ได้   ผู้วิจารณ์รู้สึกยกย่องและประทับใจในความกล้าหาญครั้งนี้ของยุขันมาก  กล้าที่จะทำให้สมกับเป็นลูกของเจ้าเมืองอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ต้องเจอภายภาคหน้า          สรุป          ในตอนที่สองของเรื่องนี้ถึงแม้จะมีแต่ความเศร้าที่ยาวนานตลอดทั้งตอนนี้เลยก็ตาม  แต่ก็ยังทำให้เห็นถึงการเสียสละ ความกล้าหาญ แน่วแน่ ตั้งใจ และยังเห็นถึงความรักที่หาได้จากคนในครอบครัว   เห็นถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับความเศร้าได้เสมอเมื่อถึงยามต้องจากลากันไปตามชะตากรรมของตนที่ถูกกำหนดไว้แล้ว  เพราะความรักที่มากล้นและบริสุทธิ์เช่นนี้   ผู้วิจารณ์ถึงกล่าวได้ว่าในตอนนี้ทำให้ผู้วิจารณ์นั้นเกิดกรุณารสได้มากที่สุด  เพราะผู้วิจารณ์รับรู้จากความรู้สึกสงสาร   จึงทำให้ได้คิดและได้สัมผัสถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่มีมากกว่าคำว่าสงสารที่ซ่อนอยู่ในบทประพันธ์นี้   ถ้าไม่มีความสงสารผู้วิจารณ์ก็อาจไม่ได้สัมผัสถึงความรักระหว่างคนในครอบครัว หรือต่อประชาชนที่รักในท่านเจ้าเมืองได้มากมายขนาดนี้    ทุกความทุกข์นั้นย่อมมีความสุขซ่อนอยู่เสมอ ถึงแม้จะทุกข์หรือเศร้ามากแต่ไหนเมื่อมองย้อนกลับไปในความทุกข์นั้น  ผู้วิจารณ์ก็กลับได้เห็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความทุกข์อย่างสิ้นเชิงเลยก็คือความรักของตัวละครที่มีให้แก่กัน  รสแห่งความโศกเศร้าในตอนนี้จึงได้ลึกซึ้งและเศร้าสร้อยแต่ก็ทำให้เข้าใจในเหตุและผลของตัวละครที่จำเป็นต้องจากกันในครั้งนี้ *หมายเหตุ  คำประพันที่ยกมานั้นไม่ได้ใส่เลขหน้าของบทที่ยกมาหลังตัวบทนั้น   เป็นเพราะว่าได้อ่านตัวบทจากเว็ปของห้องสมุดวชิรญาณโดยตรง   ซึ่งไม่มีเลขหน้ากำกับไว้ในตัวบท
อ้างอิงwww.vajiraya.org/บทละครนอกเรื่อง-ยุขัน/2