วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2561

ตีความชื่อบทกวี “ข้าวเกรียบ” ในรวมบทกวี “มือนั้นสีขาว” (เรื่องที่8) โดย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ


ชื่อบทกวีข้าวเกรียบในรวมบทกวีมือนั้นสีขาวโดย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

ตีความได้ว่า
          ฉากเปิดของเรื่องนี้เริ่มต้นที่ เด็กน้อยพูดถึงการทำข้าวเกรียบและจินตนาการว่าตนนั้นกำลังกินข้าวเกรียบที่ยายกำลังปิ้งอยู่ แต่เด็กน้อยไม่มีเงินจริง มีแค่เงินใบไม้ที่ใช้เล่นกับเพื่อน เด็กน้อยจึงยื่นเงินใบไม้ในมือให้กับยาย ยายจึงสอนว่าเงินใบไม้นั้นใช้ซื้อของจริง ๆ ไม่ได้หรอก ยายสงสารเลยให้ข้าวเกรียบเด็กน้อย ยายบอกต่อว่าเงินใบไม้เก็บไว้ซื้อขนมดินขนมทราย ยังมีข้าวเกรียบดวงจันทร์ของยายที่ไม่ต้องซื้อต้องขายกัน
          ถ้าสังเกตจากการกระทำของเด็กน้อยนั้น จะเห็นได้ว่า เด็กนั้นมีการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าเวลาจะซื้อของต้องมีการใช้เงินเป็นการแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ โลกของเด็กที่ไม่มีเงินจริง ๆ จึงได้เล่นกับเพื่อนด้วยจินตนาการที่เหมือนจริง ในการซื้อขายของกัน เด็กน้อยจึงตระหนักเสมอว่าของทุกสิ่งบนโลกต้องแลกกับเงินตรา แต่แล้วยายนี้ได้สอนสิ่งใหม่ให้เด็กน้อยในตอนท้ายว่า ยังมีบางสิ่งที่ไม่ต้องซื้อต้องขายกัน แต่สามารถให้กันได้ด้วยน้ำใจที่อยากแบ่งปัน มันคือความสุขเล็ก ๆ ที่มอบให้กัน
ถ้าถามยายได้อะไรและเด็กน้อยได้อะไร ในความคิดของดิฉัน คำตอบก็คือ ยายได้แบ่งปันน้ำใจนี้ให้เด็กน้อย ได้ความสบายใจที่เห็นเด็กน้อยกินข้าวเกรียบ และได้สอนให้เด็กน้อยรู้จักคำว่าแบ่งปัน คือให้ความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน ให้มิตรภาพที่ดี ที่เงินไม่สามารถให้ได้ ส่วนถ้าถามว่าเด็กน้อยได้อะไร ก็แน่นอนอยู่แล้ว เด็กน้อยได้ข้าวเกรียบ และที่สำคัญเด็กน้อยจะได้รู้จักคำว่าการให้ที่ไม่ต้องมีสิงใดเป็นค่าตอบแทน