วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

ตีความชื่อบทกวี “เปลี่ยน” ในรวมบทกวี “มือนั้นสีขาว”(เรื่องที่2) โดย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ


ชื่อบทกวีเปลี่ยนในรวมบทกวีมือนั้นสีขาวโดย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
ตีความได้ว่า
          กลอนบทนี้ทำให้เห็นสภาวะจิตใจของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปในทางลบจากวัยเด็กสู้วัยผู้ใหญ่ ซึ่งในบทนี้จะเห็นว่าการเปิดเรื่องนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เด็กเล่นกัน  โดยใช้ของที่หาได้จากสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป เด็กได้ใช้ไม้เป็นปืน ใช้ก้อนหินฆ่ากันได้ และสามารถฟื้นขึ้นมาอีกได้เหมือนกัน ในโลกจินตนาการของเด็กนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เด็กได้ดูจากหนังหรือละคร ซึ่งถ้ามองจากด้านจิตสำนึกของเด็กแล้วก็ถือว่าเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้กับเด็กได้เช่นกัน
          แต่มันจะไม่สงผลเสียอะไรมากถ้าเกิดว่าในการเล่นครั้งนี้ไม่ได้มีผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการตอกย้ำในการใช้ความรุนแรงสนองตอบกับเด็ก  เราเห็นว่าโลกของเด็กนั้นสดใส เล่นไปตามสิ่งที่เห็นสิ่งที่เจอ เมื่อทะเลาะกันก็สามารถดีกันได้โดยเร็ว ไม่คิดเล็กคิดน้อย แต่ว่าเมื่อผู้ใหญ่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับโลกของเด็ก ทำให้สภาวะจิตใจของเด็กได้เปลี่ยนแปลงไป จากตอนแรกที่คิดว่ามันคือการเล่น เมื่อเด็กเล่นกันแล้วโดนผู้ใหญ่เข้ามาทำโทษ ซึ่งการทำโทษนี้ก็คือการที่ตบบ่องหูของเด็กแล้วหักปืนไม้ของเด็กทิ้ง
          มันเหมือนเป็นการไปกระตุ้นจิตใต้สำนึกของเด็ก ทำให้เกิดเป็นปมในใจขึ้นมา เด็กเกิดความแค้นเคืองทำให้ผูกใจเจ็บในเรื่องนี้ และปมในใจเด็กครั้งนี้ก็ส่งผลทำให้เด็กนั้นใช้ความรุนแรงต่อไปในอนาคต เราจะเห็นได้ว่า เมื่อเด็กคนนี้โตขึ้นมา ก็ได้กระทำความรุนแรงต่อคนอื่น ๆ โดยไม่มีจิตสำนึกของความเป็นคนอยู่เลย เพราะยิงคนได้เหมือนเป็นผักเป็นปลาซึ่งไม่มีค่าใด ๆ ที่จะทำให้รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ที่ได้กระทำไปมันคือสิ่งที่ผิด ไม่มีจิตสำนึกของความเป็นคน
          การที่เด็กจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั้นมันก็เริ่มจากความคิด การถูกปลูกฝังในวัยเด็ก มันอยู่ที่ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่เข้ามาเติมเต็มสิ่งต่าง ๆ ในจิตใจของเด็กนั้นคืออะไร ด้านที่ดีต่อสังคม หรือด้านที่เป็นภัยต่อสังคม  และถ้าผู้ใหญ่เอาแต่ใช้ความรุนแรง โดยที่ไม่ให้เหตุผลว่าเหตุใดถึงได้กระทำต่อเด็กเช่นนี้ ไม่ชี้แจงว่าเด็กได้กระทำผิดอะไร มันก็จะเป็นการที่ผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงโดยไม่มีเหตุผล อนาคตของเด็กที่เคยสดใส ที่เคยสนุกสนาน กลับต้องมาเจอกับความรุนแรงในโลกของผู้ใหญ่ที่เอาจริงเอาจังและหาทางออกยุติปัญหาต่าง ๆ ด้วยความรุนแรงเป็นทางออก อาจทำให้เด็กได้จดจำในสิ่งที่ผิดเหล่านี้ไปใช้ในอนาคตได้